อกุศลมีมากกว่า จึงต้องเจริญสติฯ บ่อยๆ เนืองๆ


    สำหรับโลภมูลจิต คงจะทราบโดยขั้นปริยัติว่ามีมาก ทำไมโลภมูลจิตนี้ช่างเกิดเร็ว และก็มีมากมายเสียจริงๆ ทำไมสติไม่ค่อยจะเกิดเลย นี่เป็นชีวิตจริงๆ และก็มีเหตุมีปัจจัย เพราะเหตุว่า ทันทีที่เห็น ได้ยิน มีเชื้อของโลภมูลจิตที่สะสม ขณะใดที่หลงลืมสติ ก็ย่อมจะเป็นอกุศล โลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง ถ้าในขณะนั้นไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในภาวนา จิตก็จะต้องเป็นไปในอกุศล คือ โลภมูลบ้าง โทสมูลบ้าง โมหมูลบ้าง เพราะมีเชื้ออยู่เต็ม แต่ที่สติเกิดช้าก็เพราะเหตุว่า ไม่ชำนาญ ไม่ได้สะสมมามากพอ

    ทันทีที่เห็น ก็เป็นโลภมูลจิตเสียแล้ว โทสมูลจิตเสียแล้ว โมหมูลจิตเสียแล้ว นานๆ ครั้งหนึ่งสติก็จะระลึกได้ว่า สภาพที่กำลังปรากฏนั้นเป็นนามธรรม หรือว่าเป็นรูปธรรม ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะความชำนาญของอกุศลมีมากกว่า คือ สะสมมามากในโลภะ ในโทสะ ในโมหะ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้โลภะ โทสะ โมหะเกิด โลภะ โทสะ โมหะก็เกิด

    ผู้ที่เจริญสติจะต้องเป็นผู้ที่เจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งชำนาญ ไม่ใช่ว่า นิดๆ หน่อยๆ แต่ต้องเจริญบ่อยๆ เนืองๆ รู้ลักษณะของนามของรูปมากขึ้น ชินขึ้น ชำนาญขึ้น ไวขึ้นพอที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิตเกิดแล้วปรากฏ สติก็สามารถที่จะเกิดระลึกรู้ในลักษณะของโลภมูลจิตที่ปรากฏในขณะนั้นได้ว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง หรือเวลาที่โทสมูลจิตเกิด สติที่เจริญอบรมเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งมีความชำนาญก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของโทสมูลจิตที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

    เพราะฉะนั้น ความชำนาญเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะต้องเจริญเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งชินกับลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าขาดความชำนาญในการเจริญสติ ทางฝ่ายอกุศลก็ยังคงมีความชำนาญอยู่


    หมายเลข 6392
    6 ต.ค. 2566