ความน่าอัศจรรย์ของธรรม


    ผู้ฟัง เรียนอย่างพิสดาร เรียนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟังมากๆ แล้วเข้าใจ ก็ขอถามคุณจำนงค์ กลิ่นนี่เป็นธรรมดา หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าเรารู้กันเบื้องต้น ก็ธรรมดาครับ

    ท่านอาจารย์ รสเป็นธรรมดา หรือไม่

    ผู้ฟัง เหมือนกัน นัยเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ รสอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง รสเกิดได้ที่ลิ้น ต้องสัมผัสลิ้น ตามที่ได้ศึกษา

    ท่านอาจารย์ ลองคิดดู รสก็เป็นรสที่มีอยู่ทุกแห่งที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา รสต้องมี น่าอัศจรรย์ หรือไม่ แม้มีแต่ทำไมปรากฏให้รู้ได้ว่ามี ดูเป็นเรื่องเหมือนธรรมดาๆ สิ่งที่มี ก็มี แต่ทำไมถึงสามารถปรากฏให้รู้ได้ว่ามี ถ้าไม่มีสภาพรู้ ไม่มีทวาร ไม่เป็นอายตนะ รสปรากฏไม่ได้ เแม้มี ฉะนั้น ถ้าจะคิดถึงความน่าอัศจรรย์ของธรรม ไม่ใช่เรา ถ้าเราลิ้มรสก็ธรรมดา ทุกคนที่มีลิ้นก็ลิ้มรสใช่ หรือไม่ แต่ถ้าเป็นธรรม แม้แต่แข็ง แข็งก็แข็ง แต่แข็งปรากฏได้เฉพาะเมื่อมีสภาพที่รู้แข็ง ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้แข็งในขณะนั้นทั้งๆ ที่แข็งก็มี แต่ไม่ได้ปรากฏเลย รสก็มีเป็นปกติธรรมดา แต่ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นที่ลิ้น รสนั้นก็ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นการที่สิ่งที่มี จะปรากฏได้ก็น่าอัศจรรย์ว่า ทำไมมี แล้วปรากฏได้ด้วย ปรากฏให้รู้ว่ามี ก็ต่อเมื่อมีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ๆ สิ่งนั้นเท่านั้น เท่านั้นคือจากนั้นแล้วไม่มีอีก ทั้งสภาพรู้ และสิ่งที่ปรากฏให้รู้ นี่คือการฟัง และการพิจารณาว่าเป็นความจริงอย่างนี้ หรือไม่ และก็เป็นจริงอย่างนี้ทุกขณะจิต ไม่ใช่เพียงขณะเดียว ก็จะเห็นความน่าอัศจรรย์ของความเป็นธาตุ ความเป็นธรรมทุกอย่างว่า แม้ว่าเป็นธรรมก็จริงแต่ต้องสมควรกับการเกิดแล้วจะมีการรู้สิ่งนั้น หรือไม่รู้สิ่งนั้น ในเมื่อรส หรือรูปทั้งหลายไม่สามารถจะรู้อะไรได้ และก็ไม่สามารถจะปรากฏให้ใครรู้ได้ด้วยถ้าจิตไม่เกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งนั้นในขณะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ความเป็นเราจะอยู่ที่ไหน มีแต่ธรรม ซึ่งเป็นไปได้แต่ละทางในแต่ละขณะ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45


    หมายเลข 6350
    18 ม.ค. 2567