สภาพธรรมที่ปรากฏ - อายตนะ - ขันธ์


    ผู้ฟัง ขณะที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าสภาพธรรมปรากฏ ท่านอาจารย์ถึงกล่าวถึงอายตนะ เพราะอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าต้องมีอยู่ในขณะนั้น ที่ปรากฏ และก็ต้องมีจิตในขณะนั้น มีเจตสิกในขณะนั้น มีปัจจัยในขณะนั้น สภาพนั้นจึงปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้ากล่าวถึงขันธ์ห้า ก็ยังไม่ได้หมายถึงว่าสภาพธรรมขณะนั้นปรากฏ หรือ

    ท่านอาจารย์ เรากล่าวถึงขันธ์ห้า เรากล่าวอย่างไร

    ผู้ฟัง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    ท่านอาจารย์ เหตุใดรูปเป็นขันธ์ รูปก็เป็นรูป เป็นสภาพปรมัตถธรรม แล้วทำไมเป็นขันธ์ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ความหลากหลายของรูปจะปรากฏแต่ละอย่าง หรือไม่ อย่างเสียง เสียงไม่ได้มีเสียงเดียว หยาบก็มี ละเอียดก็มี สูงต่ำก็มี มีทุกอย่าง ซึ่งเกิดจริงๆ แต่ไม่ได้ปรากฏถ้าไม่มีสภาพรู้ที่กำลังรู้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งใดๆ ก็มีตามเหตุตามปัจจัย แต่ที่จะปรากฏว่ามีก็ต่อเมื่อจิตกำลังรู้สิ่งนั้น และสิ่งนั้นก็ดับ

    เพราะฉะนั้นคำว่า "ขันธ์" ก็คือสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เมื่อดับไปแล้วเป็นอดีต อนาคตคือยังมาไม่ถึง เมื่อถึงก็เป็นปัจจุบัน แล้วก็ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้รูปก็หลากหลายมากจึงตรัสว่ามีทั้งภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ก็สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราเอาตำรามากาง แล้วจะเจริญขันธ์ เจริญอายตนะ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะทั้งหมดเป็นธรรม เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดเป็นอย่างไร สั้นมากทั้งนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อปรากฏอย่างไร ก็เห็นความหลากหลายของรูปขันธ์ ของเวทนาขันธ์ ของสัญญาขันธ์ ของสังขารขันธ์ ของวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กล่าวแล้วทั้งหมดไม่ใช่อยู่ในหนังสือ หรือไม่ใช่เราเรียนชื่อ และสามารถที่จะบอกได้ว่า ถ้ากล่าวโดยขันธ์ ก็คือสภาพนั้นสามารถจำแนกได้โดยนัยของหยาบ ละเอียด ใกล้ ไกล เลว ประณีต นั่นเป็นคำพูดที่สติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ความหลากหลายนั้นจริงๆ แต่ถ้ารู้ความหลากหลายเพราะสติสัมปชัญญะเกิดก็จะรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปหยาบ ภายใน ภายนอก ใกล้ไกล อย่างไรก็ตามแต่ ก็เป็นรูปเท่านั้นจึงเป็นกองของรูป เป็นสิ่งอื่นไม่ได้ เป็นรูปทั้งหมด ในอดีต หรืออนาคต หรือปัจจุบัน ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจะหลากหลายอย่างไรก็ตาม ก็เป็นเพียงรูป เป็นรูปขันธ์ อยู่ในประเภทของรูป

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45


    หมายเลข 6351
    18 ม.ค. 2567