ทรงแสดงอินทรีย์โดยลำดับ และโดยความต่างกัน และไม่ต่างกัน


    ซึ่งก็ขอทวนข้อความในสัมโมหวิทโนทนี อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ ที่วินิจฉัยการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอินทรียะ ๒๒ โดยลำดับ และโดยความต่างกันและไม่ต่างกัน ซึ่งมีข้อความว่า

    แม้ลำดับในข้อว่า โดยลำดับนี้ ก็ได้แก่ลำดับแห่งเทศนานั่นเอง

    เพราะเหตุว่าบางท่านก็อาจจะสงสัยว่า ทำไมอินทรีย์นั้นก่อน แล้วก็อินทรีย์นั้นเป็นที่ ๒ อินทรีย์นั้นเป็นที่ ๓ แต่ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า

    โดยลำดับนี้ ก็ได้แก่ลำดับแห่งเทศนานั่นเอง ในข้อนั้นพึงทราบอธิบายดังนี้ด้วยการกำหนดรู้ธรรมที่เป็นภายในจึงจะได้บรรลุอริยภูมิได้

    ข้อความทั้งหมดนี้ ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาจริง ๆ ให้เข้าใจในอรรถจะเกื้อกูลต่อการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า “ถ้าไม่พิจารณาลักษณะของอินทรียะ ไม่เป็นหนทางที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม” เพราะเหตุว่าอินทรียะได้แก่จักขุนทรีย์ทางตาที่กำลังเห็น มีสภาพธรรมที่ปรากฏ และถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมใดเป็นรูปธรรม สภาพธรรมใดเป็นนามธรรม ก็ย่อมไม่สามารถที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้นถ้ามีท่านผู้ใดที่คิดจะไม่พิจารณาจักขุนทรีย์ หรือว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาก็ทราบได้ว่า ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะแม้ข้อความในอรรถกถา ที่แสดงความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอินทรียะโดยลำดับก็มีข้อความว่า

    ด้วยการกำหนดรู้ธรรมที่เป็นภายใน จึงจะได้บรรลุอริยภูมิได้ ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงจักขุนทรีย์เป็นต้นอันนับเนื่องด้วยภาวะของตนก่อน

    ควรจะต้องพิจารณาอรรถกถานี้

    จักขุนทรีย์อันนับเนื่องด้วยภาวะของตนก่อน หมายความว่าอะไร

    ทุกท่านนี้ ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม มีตัวตนไหม ? แล้วก็มีการเห็น เพราะฉะนั้นจักขุนทรีย์นี้ก็เป็นอินทรียะอันนับเนื่องด้วยภาวะของตน มีตัวตนที่เห็น เป็นเราเห็นใช่หรือไม่ใช่ ในขณะที่เห็น

    แท้ที่จริงแล้วเป็นจักขุนทรีย์ แต่ก็สภาพธรรมที่นับเนื่องด้วยภาวะของตน ถ้าไม่มีการเห็น โลกนี้ไม่ปรากฏ แต่เมื่อโลกนี้ปรากฏแล้ว เป็นเราเห็น สิ่งที่เห็นของเราด้วย เพราะฉะนั้นตัวตนไม่พ้นจากตาหู จมูกลิ้นกายใจซึ่งเป็นอินทรียะ เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ที่จะทำให้โลกปรากฏทางตาที่เห็นเป็นสิ่งต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมเป็นดอกไม้ เป็นพืชพรรณธัญญาหาร เป็นศิลปะ เป็นพระพุทธรูป เป็นวิชาการต่าง ๆจิตรกรรมต่าง ๆ ล้วนมาจากการเห็นทั้งสิ้น แล้วการเห็นนั้นก็เป็นอินทรียะ อันนับเนื่องด้วยภาวะของตน

    ทุกคนที่เห็นมีใครบ้างไหมที่ไม่คิดว่า เป็นเราเห็น เป็นตัวตน เป็นภาวะของตน เป็นสภาพหนึ่งของตัวตนที่เห็น

    เพราะฉะนั้นการที่ดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงจักขุนทรีย์ เป็นอินทรียะที่ ๑ แล้วต่อไปก็เป็นโสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์กายินทรีย์

    ก็ภาวะของตนนั้นอาศัยธรรมอันใดจึงนับได้ว่าหญิงหรือชายเพื่อทรงแสดงว่าธรรมนั้น ได้แก่ ภาวะของตนนี้ จึงทรงแสดงอิตถินทรีย์ และปุริสสินทรีย์ ต่อจากจักขุนทรีย์เป็นต้น

    ท่านผู้ฟังเกิดมาแล้ว รู้ตัวใช่ไหมว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยจักขุนทรีย์ ทางหูก็ต้องฟังเสียง เป็นหญิงเป็นชาย เป็นโสตินทรีย์

    เพราะฉะนั้นต่อจากอินทรีย์ ๕ที่จะรู้ภาวะของตนด้วยอาศัยธรรมอันใด จึงนับได้ว่าหญิงหรือชาย เพื่อทรงแสดงว่าธรรมนั้น ได้แก่ ภาวะของตนนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอิตถินทรีย์ และปุริสสินทรีย์ไว้ ต่อจากจักขุนทรีย์เป็นต้น

    ให้ทราบว่าที่เคยยึดถือตัวเองว่าเป็นหญิงหรือว่าเป็นชายก็เพราะเหตุว่าเป็นเพราะภาวะรูปซึ่งเป็นอิตถีภาวะหรือปุริสสภาวะนั่นเอง

    ต่อจากนั้นคืออินทรียะที่ ๘ได้แก่ ชีวิตินทรียะ

    เพื่อให้ทราบว่าภาวะของตนทั้ง ๒ อย่างนั้นมีความเป็นอยู่เกี่ยงเนื่องกับชีวิตินทรียะพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงชีวิตินทริยะไว้ ในลำดับต่อจากอิตถินทรีย์และปุริสสินทรีย์

    ที่ยังเป็นหญิงเป็นชายอยู่นี้ ก็เพราะเหตุว่ามีรูปซึ่งเป็นชีวิติทรียะอุปถัมภ์รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม ให้เป็นรูปที่ทรงชีวิต ดำรงชีวิตอยู่ ตราบเท่าที่กรรมทำให้ชาตินี้เป็นหญิง ก็เพราะเหตุว่าชีวิติทรียะนี้อุปถัมภ์ภาวะรูปนั้น ให้ดำรงสภาพของความเป็นหญิงอีก หรือว่าผู้ที่เป็นชายในชาตินี้ ที่ยังคงเป็นชายต่อไปอยู่ทุกวัน ยังไม่หมดสิ้นภาวะของความเป็นชาย ก็เพราะชีวิตินทรียะรูป เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม อุปถัมภ์รูปอื่นทั้งหลายซึ่งเกิดเพราะกรรมให้ดำรงสภาพความเป็นรูปนั้น ๆ อยู่

    ด้วยเหตุนี้เพื่อให้ทราบว่า ภาวะของตนทั้ง ๒ อย่างนั้น มีความเป็นอยู่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตินทรียะ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงชีวิตินทรียะไว้ในลำดับต่อจากอิตถินทรีย์ และปุริสสินทรีย์

    นี่เป็นอินทรียะที่ ๘ ซึ่งขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า

    ๑.จักขุนทรีย์ เป็นรูป ๒.โสตินทรีย์ เป็นรูป

    ๓.ฆานินทรีย์ เป็นรูป ๔ชิวหินทรีย์ เป็นรูป

    ๕.กายินทรีย์ เป็นรูป ๖.อิตถินทรีย์ เป็นรูป

    ๗.ปุริสสินทรีย์ เป็นรูป

    ๘.ชีวิตินทรีย์เป็นรูป ๑คือรูปชีวิตินทรียะ เป็นนาม ๑ คือนามชีวิตินทรียะ ได้แก่ ชีวิตินทริยะเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง

    สำหรับนามชีวิตินทรีย์ก็คือนอกจากชีวิตินทรียเจตสิกแล้ว อินทรีย์ที่ ๙คือ

    ๙.มนินทรีย์

    ๑๐. สุขินทรีย์ ได้แก่สุขเวทนา

    ๑๑. ทุกขินทรีย์ ได้แก่ทุกขเวทนา

    ๑๒. โสมนัสสินทรีย์ ได้แก่โสมนัสเวทนา

    ๑๓. โทมนัสสินทรีย์ ได้แก่โทมนัสเวทนา

    ๑๔.อุเบกขินทรีย์ ได้แก่อุเบกขาเวทนา

    ๑๕. สัทธินทรีย์ ได้แก่ศรัทธาเจตสิก

    ๑๖. วิริยินทรีย์ ได้แก่วิริยเจตสิก

    ๑๗. สตินทรีย์ ได้แก่สติเจตสิก

    ๑๘. สมาธินทรีย์ ได้แก่เอกัคคตาเจตสิก

    ๑๙. ปัญญินทรีย์ ได้แก่ปัญญาเจตสิก

    ๒๐. อนัญญาตัญญัตสามีตินทรีย์ ได้แก่ปัญญาเจตสิก ซึ่งเกิดกับโสตาปัตติมัคคจิต

    ๒๑. อัญญินทรีย์ ได้แก่ปัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับโสตาปัตติผลจิตสกทาคามิมัคคจิต

    สกทาคามิผลจิตอนาคามิมัคคจิตอนาคามิผลจิตและอรหัตตมัคคจิต

    ๒๒. อัญญาตาวินทรีย์ ได้แก่ปัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับอรหัตตผลจิตดวงเดียว

    นี่ก็แสดงให้เห็นความละเอียดความต่างกันแม้ของปัญญาว่าโดยทั่วไปปัญญาที่ไม่เกิดร่วมกับโสตาปัตติมัคคจิตเป็นปัญญินทรีย์และสำหรับอนัญญาตัญญัติสามีตินทรีย์ ซึ่งเกิดกับโสตาปัตติมัคคจิตขณะเดียว ก็ไม่ใช่อัญญินทรีย์ซึ่งเป็นปัญญาซึ่งเกิดกับโสตาปัตติผลจิต ตลอดไปจนกระทั่งถึงอรหัตมัคคจิต และอัญญาตาวินทรีย์ก็ได้แก่ปัญญาที่เกิดกับอรหัตตผลจิตเท่านั้นไม่เกิดกับโลกุตตรจิตอื่น ๆ


    หมายเลข 5920
    27 ส.ค. 2558