ทางโลกกล่าวว่าเหมือนกับบังคับจิตให้ทำกิจต่างๆ ได้


    ผู้ฟัง วันก่อนที่คุณวรศักดิ์บอกว่าเหมือนกับเราบังคับจิตได้ ก็ดูทางโลกเหมือนกับบังคับเขาได้ เขาเรียนหมอก็สำเร็จ เรียนวิชาอะไรก็สำเร็จ

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาธรรมแล้ว ถามได้ง่ายคำเดียวว่าจิตไหนบังคับอะไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ ก็นึกถึงคำถามของคุณวรศักดิ์ที่ว่าชาวโลกเหมือนบังคับจิตได้ เหมือนบังคับให้ไปออกศึก ให้ไปทำสงคราม

    ท่านอาจารย์ จิตหนึ่งขณะเกิดแล้วก็ดับ ใครบังคับจิตนั้นได้ ที่เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ไปอีกก็จะได้รู้ว่าจิตแต่ละประเภททำกิจอะไร เช่นปฏิสนธิจิตโดยชาติเป็นวิบาก โดยกิจทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน หมายความว่าจิตใดก็ตามซึ่งเกิดต่อจากจุติจิต จิตนั้นต้องทำปฏิสนธิกิจคือทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน

    แล้วเวลาที่ใช้คำว่าภวังค์ก็หมายความว่าจิตหรือมโนทำภวังคกิจคือดำรงภพชาติอย่างไร คือยังไม่ได้เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่คิดนึก ยังไม่ตายด้วย ตายไม่ได้ต้องเป็นอย่างนี้ไป เพื่อที่จิตซึ่งเป็นผลของกรรมจะเกิดขึ้นรับผลของกรรม คือเห็นทางตา ได้ยินทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย พวกนี้เป็นผลของกรรมต้องได้รับผลของกรรมอื่น ไม่ใช่เกิดมาเป็นภวังค์แล้วก็ตาย กรรมให้ผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้น ก็จะทราบว่าขณะใดที่ได้ยินคำว่าภวังค์เป็นกิจของจิตซึ่งดำรงภพชาติ แต่พอได้ยินคำว่ามโนทวาราวัชชนจิต จะเป็นภวังค์ไม่ได้แล้ว แต่เป็นวิถีจิตแรกทางใจ เพราะว่าวิถีจิตหมายความว่าเปลี่ยนสภาพจากภวังคจิตเป็นจิตที่ทำหน้าที่อื่นๆ ทางทวารอื่นๆ เพราะว่าปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เกิด และทำหน้าที่โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย

    นี่ต้องทราบความต่างกันของคำว่าวิถีจิตกับจิตที่ไม่ใช่วิถี จิตที่ไม่ใช่วิถีก็ไม่อาศัยทวาร ๖ ทวารนี้เลย แต่ว่าเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น พอพูดถึงมโนทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่ภวังคจิตแล้ว ไม่ได้ทำกิจดำรงภพชาติ แต่ทำอาวัชชนกิจ รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27


    หมายเลข 5815
    24 ม.ค. 2567