รู้สึกตัวในเรื่องกามคุณ ๕


    ดูกร อานนท์ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่า มีอยู่แล เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า

    ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เรายังละไม่ได้แล้ว แต่ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า ไม่มีเลยที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เรา เพราะกามคุณ ๕ นี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เราละได้แล้ว ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องกามคุณ ๕

    กล่าวไว้ชัดเจนทีเดียวว่า รู้สึกตัวในกามคุณ ๕ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพารมณ์ มีความพอใจ ผู้เจริญสติรู้ชัด แล้วก็ละคลายมากขึ้นๆ จนตนเองก็ทราบว่า หมดแล้ว ไม่มีแล้วความพอใจในกามคุณ ๕ ไม่ใช่วิธีอื่น การที่จะละความพอใจในกามคุณ ๕ ได้ไม่ใช่ว่าไม่ให้เกิดโลภะ ไม่ให้เกิดโทสะ แล้วจะเป็นวิธีที่จะละความพอใจในกามคุณ ๕ แต่เป็นเพราะพิจารณา รู้ชัดว่ามีอยู่ พิจารณารู้ชัดต่อไปๆ เรื่อยๆ แม้ในขณะที่ไม่มีก็รู้ แม้ในขณะที่ดับหมดเป็นสมุจเฉทแล้วก็รู้ เพราะว่าสติระลึก รู้ชัดว่าไม่เกิดอีกแล้วเพราะอะไร เพราะปัญญาเพิ่มขึ้น ละคลายมากขึ้นเพราะรู้ชัด ไม่ใช่เพราะว่าไปบังคับไว้ไม่ให้เกิด นี่เป็นหนทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้ ด้วยการรู้ชัดไม่ใช่ว่าด้วยการไม่รู้ ก็ขอให้ท่านที่เจริญสติ (ไม่ใช่บังคับสติ) สำเหนียกเพิ่มขึ้นและก็รู้ว่า ท่านมีความต้องการในสีที่กำลังปรากฏ ในเสียงที่กำลังปรากฏ ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะไหม ถ้าท่านไม่รู้ ปัญญาก็ไม่เจริญต่อไป เพราะเหตุว่าไม่รู้แล้วจะละได้อย่างไร จะหมดคลายไปจากความยินดีต้องการในสีที่กำลังปรากฏขณะนี้ ในเสียงที่กำลังปรากฏขณะนี้ ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่กำลังปรากฏตลอดวันหนึ่งวันหนึ่งได้อย่างไร จะละคลายไปได้ ต้องรู้ชัดจริงๆ ถึงความพอใจที่มีเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป จนกระทั่งไม่เกิดก็รู้ว่าไม่เกิด เพราะว่าสติรู้ว่า หมดปัจจัยที่จะเกิดแล้ว หรือว่าในขณะที่ยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท ขณะที่เกิดก็รู้ชัด ขณะที่ไม่เกิดก็รู้ชัด เพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น


    หมายเลข 5696
    2 ต.ค. 2566