ภัยของวิญญานาหารเปรียบเหมือนถูกแทงด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม


    ซึ่งข้อความใน  ปปัญจสูทนี   มีข้ออธิบายว่า

       พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม   เปรียบวิญญาณาหาร  ด้วยการถูกแทงด้วย หอก ๓๐๐ เล่ม  โดยนัยเป็นต้นว่า   

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ราชบุรุษทั้งหลายจับโจรผู้เที่ยวทำโจรกรรม  แม้ฉันใดดังนี้   เพื่อความสิ้นไปแห่งความยินดีในวิญญาณาหาร  ในข้อนี้มีอรรถโยชนาโดยสังเขป  ด้วยคำอธิบายดังต่อไปนี้

       ส่วนในข้อเปรียบกับการถูกแทงด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม  มีเนื้อความว่า  บุรุษนั้นย่อมทุกข์ร้อนด้วยหอก ๑๐๐ เล่มอันใดในเวลาเช้า  สรีระของบุรุษนั้นก็มีรอยปากแผลถึงร้อยแห่ง  รอยปากแผลนั้นไม่หยุดอยู่เพียงในระหว่าง  ได้ทะลุออกไปถึงอีกข้างหนึ่ง  หอก ๒๐๐ เล่มนอกจากนี้ก็แทงทะลุเหมือนกัน  ร่างกายทั้งสิ้นของบุรุษนั้นเป็นช่องน้อยช่องใหญ่ด้วยหอกอันไม่หยุดยั้งเพียงในที่ถูกแทงอย่างนั้น  ประมาณแห่งทุกข์อันเกิด  แม้ในปากแผลเพียงแห่งเดียวแห่งบุรุษนั้นย่อมไม่มี  ไม่ต้องพูดถึงปากแผลแห่งหอกทั้ง ๓๐๐ เล่ม

       ปฏิสนธิเป็นเหมือนเวลาถูกแทงด้วยหอก  การเกิดแห่งขันธ์เป็นเหมือนการทำให้เกิดปากแผล   ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ต่าง ๆ   อันมีวัฏฏะเป็นมูลรากในขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว   เหมือนกับการเกิดแห่งทุกขเวทนาในปากแผลทั้งหลาย

    แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงอย่างนี้   ก็ยากที่จะเห็นจริง   ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด   ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า   จะเหมือนกับบุรุษที่ทุกข์ร้อนด้วยหอกที่แทง ๓๐๐ เล่ม  ๑๐๐ เล่มในเวลาเช้า  เวลากลางวัน  เวลาเย็น

    และพระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า  ปฏิสนธิเหมือนเวลาถูกแทงด้วยหอก   แล้วก็ปากแผลทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นก็นำมาซึ่งทุกข์มากมายทีเดียว

    คนที่เป็นแผล   คงจะเข้าใจดีถึงความทุกข์ที่เกิดจากแผล   แต่เวลาที่ไม่มีแผล   ก็ไม่สามารถที่จะเห็นได้ว่า   ทุกข์ที่เกิดจากปากแผลนั้นเป็นอย่างไร   แต่ปากแผลนั้นไม่น้อยเลย   ลองคิดดูว่า   ถูกแทงด้วยหอกถึง ๓๐๐ เล่ม  แล้วก็ทะลุไปอีกข้างหนึ่งด้วย

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้จะเป็นเหมือนอย่างนั้นหรือเปล่า   


    หมายเลข 5654
    27 ส.ค. 2558