กัมมนิยาม - ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ระหว่างภูเขาก็หนีไม่พ้นผลของกรรม


    สำหรับข้อความที่ว่า   ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ระหว่างภูเขา

    พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงอดีตกรรมของภิกษุรูปหนึ่ง   ซึ่งภิกษุรูปนี้อยู่ในถ้ำ   แล้วมียอดภูเขาใหญ่ตกลงมาปิดปากถ้ำไว้   ในวันที่ ๗   ยอดภูเขาใหญ่ที่ตกลงมาปิดประตูนั้นจึงได้กลิ้งออกไปได้

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสแสดงอดีตกรรมของภิกษุรูปนี้ว่า   เคยเป็นเด็กเลี้ยงโคในชาติก่อน   แล้วได้ปิดปากประตูขังเหี้ย   ซึ่งเข้าไปในรู  แล้วในวันที่ ๗  ก็มาเปิดให้   เหี้ยก็ตกใจกลัวตัวสั่นออกไป   แต่เขาก็ไม่ได้ฆ่า   เพราะฉะนั้นกรรมนั้นก็ไม่ได้เพื่อให้จะปล่อยภิกษุนั้น   ผู้เข้าไปสู่ซอกภูเขา  นั่งอยู่  ยังติดตามให้ผลได้

    แม้นี้ชื่อว่า  “กัมมนิยาม”  นั่นเอง   เพราะเหตุว่า  นิยามมี ๕ อย่าง  ได้แก่

    พืชนิยาม หรือพีชนิยาม  กำหนดที่แน่นอนของพืช   ๑

    อุตุนิยาม   กำหนดที่แน่นอนของฤดู   ๑

    กัมมนิยาม กำหนดที่แน่นอนของกรรม ๑

    ธัมมนิยาม  กำหนดที่แน่นอนของธรรมดา ๑

    จิตตนิยาม  กำหนดที่แน่นอนของจิต   ๑

    ตามข้อความในจิตตุปาทกัณฑ์   ในอัฏฐสาลินี


    หมายเลข 5572
    27 ส.ค. 2558