ทำไมถึงชอบจำเรื่องไร้สาระ


    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ทำไมจำง่ายเหลือเกิน แต่ถ้าเป็นเรื่องธรรม เรื่องที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้น ไม่ค่อยจำ นี่เป็นเพราะเหตุใด

    ท่านอาจารย์ เพราะคุ้นเคย พอใจในเรื่องไร้สาระ บางคนฟังธรรมเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เบื่อมากเลย ไม่เห็นไปไหน ก็อยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เพราะฉะนั้นสู้เพลินในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ เพลินในคนยังไม่พอ เพลินในนิทาน ในนิยาย ในโทรทัศน์ ในหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องราวของสภาพธรรมที่เกิดดับตลอดเวลา แต่เพราะความไม่รู้ และก็คุ้นเคยกับความทรงจำด้วยสัญญาที่จำในเรื่องต่างๆ ก็ติดข้องในเรื่องที่มี เพราะฉะนั้นยากแสนยากที่จะสละเรื่องราว สละความเป็นตัวตนก็คือสละเรื่องราวด้วย เพราะว่าจิต เจตสิก ไม่ใช่เรื่องราว เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นทำกิจ เช่นการเห็น ก็เห็นสีสันวัณณะที่ปรากฏแล้วก็ดับ ไม่ใช่เรื่องราว จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงเป็นปรมัตถธรรม เป็นรูปธรรม เกิดแล้วก็ดับ แต่เรื่องราวของสิ่งที่ปรากฎกับเสียงที่ปรากฏที่จำไว้ ทำให้ติดข้อง และเพลินในเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า จะสละความไม่รู้ ก็คือมีความเห็นที่ถูกต้องว่า แท้ที่จริงแล้วเรื่องนั้นมีจริงๆ หรือเปล่า หรือเพราะจำว่ามีสิ่งซึ่งเป็นอัตตสัญญา จำสิ่งที่เกิด และดับไปแล้วว่ายังมีอยู่ เช่น คนที่กำลังนั่งอยู่ รูปที่กระทบจักขุปสาทเกิดแล้วดับตลอดเวลา แต่ก็จำผิดว่ายังมีอยู่ ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ก็จำเรื่องราวของสิ่งที่มีอยู่ด้วยความติดข้อง ด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยความไม่รู้ แต่ถ้าเป็นความรู้ถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ไม่ใช่เราจะเพลินอย่างเรื่องราว แต่จะเกิดปิติ โสมนัสได้ ที่ได้รู้ความจริงที่ซ่อนเร้นมานานแสนนานว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เป็นสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้นเอง สละการที่เคยยึดถือว่าเป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ คือ สละเรื่องราวทั้งหมด ว่า สีนี้เป็นญาติ สีนี้เป็นเพื่อน สีนี้เป็นสิ่งของ สีนี้เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะความจริงสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะจริงๆ คือสามารถกระทบจักขุปสาทแล้วดับ คนอยู่ที่ไหน ถ้าไม่คิด ไม่จำ จำไว้อย่างเหนียวแน่น อัตตสัญญาความทรงจำว่าเป็นบุคคล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามแต่ และก็เพลิดเพลินไปกับอัตตสัญญา เพราะฉะนั้น กว่าจะสละได้ ไม่ใช่สละเพียงเรา แต่ต้องสละเรื่องราวทั้งหมดด้วย เพราะเรื่องราวทั้งหมดไม่ใช่ปรมัตถธรรม ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม คือไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป เกิดดับสืบต่อ เรื่องราวทั้งหมดจะมีไม่ได้ เรื่องราวมีเมื่อจิตคิด ถ้าจิตไม่คิดเรื่องใดเรื่องนั้นก็ไม่มีในขณะนั้น

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15


    หมายเลข 5255
    16 ม.ค. 2567