แม้ได้ฌานขั้นสูงสุดก็ยังไม่ใช่การเจริญธรรมเครื่องขัดเกลา


    ส.   สำหรับข้อความต่อไป ก็เป็นโดยนัยยะเดียวกัน สำหรับภิกษุผู้บรรลุ ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน โดยนัยยะเดียวกัน ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นความมั่นคงของสติ ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับและสมาธิก็มีกำลัง มั่นคงขึ้นตามลำดับ สำหรับทุติยฌานนั้นเป็น สมาธิที่มั่นคง ซึ่งวิตกไม่เกิดเลย แล้วสำหรับ ตติยฌาน ก็เป็นสมาธิที่มั่นคงขึ้น จนวิจารเจตสิก ก็ไม่เกิดขึ้นสำหรับ ตติยฌาน โดย จตุตถนัย คือโดยนัยยะของฌาน ๔ ก็เป็น สมาธิที่มั่นคงขึ้น จนปีติก็ไม่เกิด คิดดู ปีติซึ่งมีซึมซาบอยู่ทั่วตัว  เป็นความปลื่มใจ หรือเป็นความปีติอย่างยิ่ง ในความสงบนั้น แต่ว่าเวลาที่สมาธิ และสติมั่นคงมีกำลังขึ้น ก็ยังจะสามารถละปีติ  เพราะเห็นว่าถ้ายังมีปีติอยู่ ก็ยังหวั่นไหว ใกล้ต่อการที่จะพอใจในฌานขั้นต่างๆ จนกระทั่งถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้  พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัส ก่อนได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ดูกรจุนทะ แต่ธรรมคือจตุตถฌานนี้เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ ในวินัยของพระอริยะ ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถึง การบรรลุ อรูปฌาน ตามลำดับ คือการบรรลุถึง อรูปฌานที่ ๑ อากาสานัญจายตนฌาน อรูปฌานที่ ๒ วิญญาณัญจายตนฌาน อรูปฌานที่ ๓ อากิญจัญญายตนฌาน  อรูปฌานที่  ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า  ดูกรจุนทะ แต่ธรรมคือเนวสัญญานาสัญญาย

    ตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบระงับ ในวินัยของพระอริยะ ดูกรจุนทะ เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลากิเลสในข้อเหล่านี้แล คือ เธอทั้งหลาย พึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในข้อนี้เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน  แทนที่จะไปเจริญฌานจนกระทั่งถึง เนวสัญญานาสัญญายตน แต่ยังไม่ใช่ธรรมเครื่องขัดเกลา แต่เวลาที่ขัดเกลา พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า  เธอทั้งหลาย พึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในข้อนี้เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน  ถ้าเจริญสมถภาวนา บรรลุฌานแล้ว ยังมีความคิดที่จะเบียดเบียนได้ เพราะเหตุว่าไม่ได้ดับกิเลส เป็นสมุจเฉท แต่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะมีความซาบซึ้งในพระพุทธคุณ ในพระธรรมคุณ ในพระสังฆคุณ แล้วก็ไม่ลืมที่จะขัดเกลา ตนเองยิ่งขึ้น โดยเห็นว่า เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงแสดงเพื่อ อนุเคราะห์ กับ ผู้ที่ยังมีกิเลสให้เป็นผู้ที่กิเลสเบาบาง แล้วผู้ที่เป็นพระสงฆ์คือพระอริยสงฆ์นั้น ก็สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ผู้ที่ระลึกถึงพระรัตนไตร ย่อมประพฤติปฏิบัติ ตามยิ่งขึ้น แม้แต่ความคิดที่เบียดเบียน เช่นในกาลก่อนอาจจะเป็นผู้ที่ เบียดเบียนบุคคลอื่น ซึ่งการเบียดเบียนบุคคลอื่น ไม่ใช่แต่เฉพาะทางกาย  แม้ทางวาจาหรือใจ เวลาที่ระลึกถึง พระรัตนไตรได้ ก็คงจะมีความอุตสาห ที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น โดยจะเป็นผู้ไม่เบียดเบียน เคยตั้งใจอย่างนี้ ไหมคะหรือยังไม่เคย แต่ถ้าระลึกถึง การขัดเกลากิเลสจริงๆ ย่อมจะเห็นได้ว่า เวลาที่เบียดเบียนนั้น เป็นอกุศลอย่างแรงทีเดียว


    หมายเลข 5172
    19 ส.ค. 2558