จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรม อารมณ์ กิจ ชาติ


    อ.วิชัย ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงจิต ที่ว่าจำแนกออกเป็น ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภท ถ้ากล่าวโดยลักษณะของจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ นี่คือสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ว่าโดยสภาพของจิต เป็นสังขตธรรม คือมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าจิตที่เกิดขึ้น บางครั้งจิตนั้นเกิดขึ้นเป็นไปที่จะรู้แจ้งทางตา ขณะนี้กำลังเห็น ก็มีจิตที่กำลังรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อเกิดแล้วดับไป บางครั้งมีเหตุปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้แจ้งทางหู ซึ่งจิตที่รู้แจ้งทางตา กับจิตที่รู้แจ้งทางหูเป็นประเภทต่างกัน แต่โดยลักษณะของจิต คือลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์ แต่ว่าที่จำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ เพราะเหตุว่ามีจิตที่รู้แจ้งทางตาประเภทหนึ่ง จิตที่รู้แจ้งทางหู จิตรู้แจ้งทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และก็มีจิตต่างๆ ที่เป็นอกุศลจิตก็มี คือมีโลภะความติดข้องเป็นมูลคือเป็นเหตุ นั่นก็เรียกว่าโลภมูลจิต คือจิตที่มีโลภะเป็นมูล หรือว่าโทสะความขุ่นแคืองใจ เมื่อประกอบกับจิต จิตนั้นก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ แต่เมื่อประกอบด้วยโทสะ จึงใช้ชื่อว่าโทสะมูลจิต

    ดังนั้นก็มีจิตคือโดยลักษณะเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ว่าที่เป็นประเภทต่างๆ คือ มีอารมณ์ต่างกันอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจของสัมปยุตตธรรมอย่างหนึ่ง และโดยภูมิโดยชาติ ก็ศึกษาต่อไปครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็สะดวกไม่ว่าจะกล่าวโดยประการใดๆ ถ้ากล่าวถึงจิตที่เห็นทางตาอย่างหนึ่ง ผัสสะที่กระทบสิ่งที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง จิตที่ได้ยินเสียงรู้แจ้งเสียง เพราะผัสสเจตสิกขณะนั้นกระทบเสียงก็เป็นผัสสะอีกอย่างหนึ่งก็ได้ จะกล่าวอย่างนี้ก็ได้ แต่เมื่อประมวลถึงลักษณะกิจหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ก็จึงเป็น ๕๒ ประเภท และก็จิตหนึ่งคือเป็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งเมื่อจิตมีระดับต่างๆ กัน ผัสสเจตสิก หรือแม้แต่เจตสิกอื่นๆ ก็จะมีระดับต่างๆ กันด้วย อย่างสัญญาที่จำเสียง กับสัญญาที่จำสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นก็ต่างกันด้วยอารมณ์ก็จริง แต่ก็เป็นสัญญาเจตสิกฉันใด ไม่ว่าจิตจะไปรู้แจ้งอารมณ์อะไรๆ อย่างไร ประกอบด้วยเจตสิกอย่างไร แต่ลักษณะของจิตก็เป็นใหญ่เป็นประธานในขณะที่เกิดขึ้น ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10


    หมายเลข 5149
    16 ม.ค. 2567