ศึกษาเพื่อเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ


    อ.อรรณพ ธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕ ก็คือ รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ และเจตสิกที่เหลือทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ ส่วนจิตนั้นเป็นวิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ คงจะเป็นแต่เพียงชื่อก่อน เพราะว่าจริงๆ แล้วการศึกษาธรรมต้องทราบว่าเมื่อฟังแล้วเราจะมีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ อันนี้สำคัญที่สุดคือว่าไม่ว่าเราจะได้ยินคำอะไร เราจะศึกษาต่อไปยังไงก็ตาม ให้ทราบว่าเราจะเข้าใจสิ่งมีจริงๆ ที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น

    จากการที่ไม่เคยได้ฟัง ไม่เคยได้เข้าใจเลย ว่าเป็นธรรม จนกระทั่งเริ่มรู้ว่าเป็นธรรม และธรรมซึ่งมีจริงๆ ซึ่งใครไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ ก็เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ จริง ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน ที่จะไม่มีปรมัตถธรรม ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อมีโลก มีสิ่งที่ปรากฏในโลก สิ่งที่เป็นโลก และสิ่งที่ปรากฏ จะมีลักษณะที่เป็นธรรมทั้งหมด แต่ว่าลักษณะธรรมที่ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ ก็มีนามธรรม และรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงปรมัตถธรรม ๔ จะเว้นไม่พูดถึงนิพพาน เพราะเหตุว่าขณะนี้ไม่มีใครเห็นนิพพาน ไม่มีใครได้ยินนิพพานเพราะว่านิพพานไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิด และปรากฏในชีวิตประจำวัน ไม่มีปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่เคยเป็นเราเป็นโลกทั้งหมด ก็คือสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง โดยที่เราไม่เคยคิด คิดว่าเมื่อเกิดมีปรากฏก็เป็นเราไปเสียทุกอย่าง หรือว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามการที่ได้จำไว้ ตามความจริงก็คือว่าเป็นธรรม มีแน่ๆ แล้วก็เกิดขึ้นแล้ว จึงปรากฏ ซึ่งลักษณะที่ต่างๆ กันเป็น ๒ อย่าง คือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สภาพที่สามารถจะรู้จะเห็น จะคิดจะนึกได้เลย และสภาพธรรมนี้ก็เป็นประเภทที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน บนสวรรค์ ในน้ำ ที่ไหนก็ตาม หรือว่าเกิดมาแล้วนานแสนนาน ลักษณะนี้ก็ไม่เปลี่ยน คือเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ถึงในอนาคตก็เป็นอย่างนี้ และแม้ในขณะนี้ คือสิ่งที่เรากำลังฟัง ต้องพิสูจน์ ต้องเข้าใจในขณะนี้ว่ามีรูปธรรมไหม เพราะว่าเราฟังไปก็รู้ว่ามีรูปธรรม แต่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ต้องมีความเข้าใจขึ้น และก็ไม่ลืม การที่เราพูดเรื่องรูปธรรม นามธรรมบ่อยๆ ทุกครั้งก็เพราะเหตุว่า นามธรรมมีจริง รูปธรรมมีจริง แต่เราลืมว่าเป็นนามธรรม และรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น เวลาฟังธรรม ก็จะไม่นึกถึงเรื่องอื่นเลย แต่นึกถึงสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นธรรม และในขณะนี้เราก็สามารถที่จะบอกได้ด้วยตัวของเราเองว่าลักษณะใดเป็นรูปธรรมบ้าง

    ผู้ฟัง แข็งค่ะ

    ท่านอาจารย์ แข็ง หนึ่งรูป เสียง สองแล้วนะคะ แข็งรู้ได้ทางกาย ถ้าไม่มีกายปสาท ยังไงๆ แข็งก็ปรากฏไม่ได้ สำหรับเสียงมีจริงๆ แต่เราบอกว่าเกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีสิ่งที่ทำให้เสียงเกิด เสียงก็เกิดไม่ได้ อย่างนั่งเฉยๆ เสียงก็ไม่เกิดใช่ไหม แต่พอมีของแข็งกระทบกัน เสียงเกิดแล้ว แต่ถ้าไม่มีการกระทบกันของของแข็ง ใครทำให้เสียงเกิดได้บ้าง มีไหมคะ แม้แต่คำที่พูดออกมา ก็ต้องมีการกระทบกันของส่วนที่เป็นรูปที่เราเรียกว่าธาตุดิน หรือธาตุที่อ่อนแข็งในปากกระทบกัน เสียงจึงจะเกิดขึ้นมาได้ แต่ก็ยังมีสมุฏฐานนอกจากนั้นอีกด้วย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเรารู้ลักษณะของรูปทางกายทุกคนมี ๑ รูป ทางหู ๑ รูป เดี๋ยวนี้เองเป็นธรรมที่เราจะเข้าใจ ให้ถึงที่สุดว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของใคร เพื่อที่จะได้ปัญญาเจริญจนสามารถละคลายความติดข้อง การยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นเรา จนกว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เหนือโลก คือพ้นจากโลก พ้นจากสภาพธรรมในขณะนี้ นั่นคือนิพพาน แต่ก็อีกไกล เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องตามลำดับจริงๆ ต้องรู้สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในหนังสือ หรือตามตำรา แต่เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ในขณะนี้ได้ มีอ่อนแข็ง มีเสียง และมีอะไรอีก กลิ่น เมื่อมีจมูก บางคนอาจจะจมูกดีได้กลิ่น ดอกไม้ที่อยู่ข้างนอก มีต้นไม้ มีกลิ่นหญ้า มีกลิ่นดอกไม้ แต่ว่าถ้าไม่กระทบกับจมูก กลิ่นก็ไม่ปรากฏ และต่อไปก็จะทราบว่าที่กลิ่นอยู่ถึงที่โน่น แล้วจะมากระทบถึงจมูกที่นี่ได้ต้องอาศัยธาตุอะไร แต่ให้ทราบว่ากลิ่นก็เป็นสิ่งที่มีจริง รสกระทบกับลิ้น สีต่างๆ ที่ปรากฏทางกายก็เป็นรูปต้องอาศัยจักขุปสาท มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส ๔ แล้ว และก็มีแข็ง ๕ เย็น หรือร้อน ๖ ตึง หรือไหว ๗ เป็นรูปที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่เคยรู้ แต่ขณะนี้ทราบว่าเรากำลังศึกษาธรรม แข็งเป็นของใคร หรือเปล่า ไม่เป็น เสียงเป็นของใคร หรือเปล่า ไม่เป็น ทุกอย่างเป็นธรรมคือเพียงเกิดปรากฏ แล้วหมดไป

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องฟังจนกระทั่งมีความเห็นถูกเข้าใจถูกว่านี่เป็นรูปธรรม และเป็นรูปขันธ์ ถ้าได้ยินคำว่ารูป ก็รู้ว่ารูปเป็นธรรมที่มีจริง จะใช้คำว่ารูปธรรมก็ได้ และธรรมที่มีจริงซึ่งเป็นรูปก็มีหลายอย่างที่ต่างกัน เป็นสีก็มี เป็นเสียงก็มี เป็นกลิ่นก็มี เป็นรสก็มี ในอดีตแต่ก่อน หรือต่อไปข้างหน้า หรือเดี๋ยวนี้ ก็หลากหลายมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม รูปทั้งหมดทุกชนิด เมื่อไม่ใช่สภาพรู้ จึงเป็นรูปขันธ์ เพราะฉะนั้นรูปไหนไม่ใช่รูปขันธ์บ้าง ไม่มีเลย นี่คือความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ขันธ์ที่ไม่ใช่รูปมีไหม มี เพราะอะไรก็ตามที่มีจริง ที่เกิดขึ้น ที่ไม่ใช่รูปธรรมเป็นอะไรคะ เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นก็มีสองอย่าง นามธรรมกับรูปธรรม ศึกษาไปตลอดชีวิต กี่ชาติก็แล้วแต่ จนกระทั่งประจักษ์จริงๆ ว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่รูปสามารถปรากฏกับสภาพที่สามารถรู้รูปนั้นซึ่งเป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ สิ่งต่างๆ กำลังปรากฏกับนามธรรม สภาพรู้ หรือธาตุรู้ ใช้คำนี้ไม่ชินหูเลย แต่ถ้าบอกว่าจิตนี่ชินหู พูดแล้วก็เข้าใจเหมือนกับว่าเข้าใจได้ทันที แต่จิตเป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้ คือถ้าเราสามารถเข้าใจ หรือคิดว่าเราเข้าใจจิต เราก็ต้องเข้าใจสภาพรู้ หรือธาตุรู้ด้วย มิฉะนั้นไม่ชื่อว่าเราเข้าใจจิต เราเพียงแต่รู้ว่ามีจิต แต่รู้แบบไม่เข้าใจอะไรเลยว่าจิตนี่คืออะไร แต่ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจได้ ว่ามีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ทั้งหมดนี้เป็นธาตุ หรือธรรมที่มีจริง แต่ธาตุชนิดหนึ่งไม่รู้อะไรเลย แต่อีกชนิดหนึ่งเป็นธาตุรู้ซึ่งทันทีที่เกิด ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เราใช้คำว่ารู้ เช่นเสียงปรากฏ เรามักจะชินกับภาษาไทยว่าได้ยินเสียง แล้วถามว่าได้ยินคืออะไร ยังไง ถ้าเราเข้าใจได้ยินจริงๆ ก็คือได้ยินเป็นธาตุ หรือธรรมที่สามารถได้ยินเสียง คือเป็นธาตุรู้ซึ่งสามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งขณะนั้นเป็นเสียง ขณะนี้เสียงมีหลายเสียง แต่ละเสียง ธาตุชนิดนั้น หรือจิต (ธาตุรู้) สามารถรู้แจ้งในลักษณะของธาตุนั้น

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง มีจริงๆ ขณะเห็น ธาตุชนิดนี้สภาพธรรมชนิดนี้ก็คือ สภาพที่กำลังเห็นนั่นเอง ขณะที่กำลังเห็นไม่เคยสนใจมาก่อน แต่รู้ว่าแท้ที่จริง มีจริงๆ ธาตุที่เห็น หรือสภาพธรรมที่เห็น หรือจะใช้คำว่า “จิตเห็น” ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่เห็น

    เพราะฉะนั้น เราก็กำลังศึกษาธรรม ซึ่งแม้ในขั้นต้นก็ไม่ง่าย เพราะเหตุว่าถ้าพูดเพียงชื่อไม่ยาก แต่ถ้าพูดถึงลักษณะจริงๆ ที่จะให้เป็นความรู้ของเราจริงๆ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าลักษณะของธรรมที่เป็นนามธาตุ ที่เป็นสภาพรู้ ก็คือในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้นั่นเอง

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9


    หมายเลข 5132
    7 ม.ค. 2567