ภิกษุทูลขอกรรมฐาน ๔๐ ในสมถภาวนาหรือไม่


    ส.   เชิญคะ

    ผู้ฟัง .   ที่พระทั้งหลาย เข้าไปขอกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า กระผมคิดว่า กรรมฐานที่พระขอ คงจะเป็น กรรมฐาน ๔๐ ในสมถภาวนา คิดว่า ไม่ใช่สติปัฏฐานแน่ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน แล้ว จริตของคนทั่วไป มีแค่ ทิฏฐิจริต กับ ตัณหาจริต ก็จริต ๒ เท่านั้น แล้วก็ พระองค์ก็แสดงเรื่องสติปัฏฐาน  พระองค์ก็แสดงแล้ว นามรูป ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายก็เข้าใจแล้ว ปกติเกิดขึ้นที่ไหนก็พิจารณาที่นั้น อย่างนี้คิดว่า ภิกษุคงจะเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ต้องถาม แต่ที่ภิกษุเข้าไปถามนั้น คงจะเป็นกรรมฐาน ๔๐ กรรมฐาน ๔๐ เรื่องการเจริญสมถภาวนา นี่ จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องเลือก กรรมฐาน เช่นคนโลภจริต ก็ต้องพิจารณา อสุภ เพื่อความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทีนี้จริตของใคร ต่อของใคร ตัวเองไม่ค่อยรู้ตัวเอง ดีนักหรอก จำเป็นเหลือเกินจะต้องพึ่งอาจารย์ บ้าง พึ่ง  สมัยนั้นมีพระพุทธเจ้าอยู่ ก็ยิ่งสบายมาก ถึงขอกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ที่พระขอ ผมคิดว่า คงจะเป็นกรรมฐานในอารมณ์ของกรรมฐาน ๔๐ คิดว่าไมใช่ให้พิจารณานามรูปแน่

    ส.   ฟังดูเหมือนจะเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น เพราะใช้คำว่า กรรมฐานแล้วก็ไปทูลขอกรรมฐาน แต่ถ้าพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่า ท่านผู้ฟังซึ่งเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึก ศึกษา สังเกตุสำเหนียกที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ว่ากว่าปัญญาแต่ละขั้น จะเกิด ยังไม่ต้องไปถึงละคลาย เพียงแต่ว่า ที่จะให้รู้ ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จริงๆ ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ยาก แต่ว่าในครั้งนั้น พระภิกษุทั้งหลาย ท่านได้อบรมเจริญมาแล้ว บ้างท่านก็ได้เจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาบารมีมามากทีเดียวในอดีต แต่ว่ายังไม่ถึงเวลาที่ท่านจะเกิด ความหน่ายการละ การคลาย เยื่อใยการที่ยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ได้ หรือว่ายังไม่ละความพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่าต้องอาศัยพระธรรมเทศนา ที่เหมาะ ที่จะให้เกิดความสลดใจ สังเวช ละคลาย  ในขณะที่กำลังฟังธรรมในขณะนั้น  ซึ่งแต่ละคน สะสมอัธยาศัยมาต่างกัน จริงๆ


    หมายเลข 4984
    19 ส.ค. 2558