เหตุใดจึงต้องศึกษาพระไตรปิฎก


    ส.   ถ้าไม่ศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา ก็คงจะมีแต่กระดาษที่เก็บเอาไว้เป็นสมุด เป็นคำสอน หรืออาจจะกาลข้างหน้าเปลี่ยนแปลงตามความรู้สมัยใหม่ เป็นรูปแบบอื่นก็ได้ แต่ไม่มีใครอ่านอีก ไม่มีใครศึกษาอีก ไม่มีใครเข้าใจอีก จนในที่สุดเปิดมาดูก็ไม่มีใครสามารถเข้าใจข้อความนั้นๆได้เลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีตำรับตำรา มีพระธรรมคำสอนที่สมบูรณ์ พุทธบริษัทที่ต้องการทราบว่า พระธรรมแท้ๆที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ทรงแสดงเรื่องอะไร ก็สามารถติดตามฟังเพื่อให้เกิดปัญญาของตนเอง

    พระธรรมที่ทรงแสดงไว้มี ๓ ปิฎก  พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก .และพระอภิธรรมปิฎก

    พระวินัยปิฎกส่วนใหญ่เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมควรแก่เพศบรรพชิต เพราะเหตุว่าอัธยาศัยของคนในโลกนี้ต่างกัน พุทธบริษัทมี ๒ ส่วน คือ บรรพชิตพวก ๑ คฤหัสถ์ พวก ๑ บรรพชิตเป็นผู้สะสมอัธยาศัยที่จะประพฤติตามแบบอย่างของพระผู้มีพระภาค คือเป็นผู้ไม่ครองเรือน แต่ก็มีผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่สะสมอัธยาศัยเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติในเพศของผู้ครองเรือน หรือเพศคฤหัสถ์  อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือท่านวิสาขามิคารมาตา

    นี่แสดงให้เห็นว่า แต่ละคนต่างอัธยาศัยจริงๆ สำหรับพระวินัยปิฎกส่วนใหญ่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของบรรพชิต แต่คฤหัสถ์จะศึกษาจะเป็นประโยชน์มาก และจะอนุเคราะห์พระพุทธศาสนาด้วย เพราะเหตุว่าจะรู้ว่า การประพฤติอย่างไรเป็นบรรพชิต และการประพฤติอย่างไรไม่ใช่บรรพชิต ทำให้เราสามารถรู้ว่า พระภิกษุในพระพุทธศาสนามีกิจของพระภิกษุต่างกับกิจของคฤหัสถ์อย่างไร ไม่ปะปนกันเลย แต่ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมวินัย คฤหัสถ์บางคนอาจเลื่อมใสในภิกษุซึ่งไม่ได้กระทำกิจของภิกษุตามพระวินัย

    นี่แสดงให้เห็นว่า ในยุคนี้สมัยนี้ ถ้ามีใครคิดจะเกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนาก็ควรศึกษาอย่างครบถ้วนทั้ง ๓ ปิฎก แม้ว่าจะไม่มาก แต่ให้พอที่จะเข้าใจได้ในความต่างกันของเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต

    นี่คือพระวินัย และสำหรับคฤหัสถ์ที่รู้พระวินัย เป็นประโยชน์ด้วย เพราะเหตุว่าความงามทางกิริยาอาการของกายวาจาที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตอย่างไร คฤหัสถ์สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ แม้จะไม่ได้ดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต เหมือนกับกิริยามารยาทของสังคมทั่วๆไป ถ้าเราพิจารณาเห็นว่า อะไรที่เหมาะที่ควร ไม่จำกัดเชื้อชาติว่าของชาติไหน เราก็สามารถประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างอันนั้นได้ เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่ดี

    นี่แสดงให้เห็นประโยชน์ของพระธรรม แม้พระวินัยด้วย

    สำหรับพระสุตตันตปิฎก บางท่านก็อาจเคยฟังมาบ้างจากรายการธรรมต่างๆ ที่วัดอาราม หรือตามสถานีวิทยุ ก็เป็นเรื่องคำสอนที่กล่าวถึงสมัยที่พระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวัน พระวิหารนิโครธาราม แล้วเสด็จไปสู่ที่ต่างๆ สนทนาธรรมกับบุคคลต่าง ข้อความต่างๆ ตามอัธยาศัยของผู้ฟัง

    ปิฎกที่ ๓ คือ  พระอภิธรรมปิฎก บางคนได้ยินชื่อก็อาจจะกลัว เพราะคิดว่าพระอภิธรรมปิฎกคงจะยาก หรือไม่มีโอกาสได้ฟังบ่อย แต่ถ้าเข้าใจความหมายของธรรมว่า หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ น่าสนใจไหมคะที่จะสนใจเรื่องสิ่งที่มีจริงๆให้ละเอียดขึ้น ถ้าสนใจ มีทางเดียว คือ ศึกษาพระอภิธรรม เพราะเหตุว่า อภิ อีกความหมายหนึ่ง หมายความถึงละเอียด เป็นธรรมส่วนละเอียดจริงๆ ซึ่งแสดงไว้โดยการประจักษ์แจ้งจากการตรัสรู้

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม เราก็อาจจะคิดว่า ไม่ศึกษาดีกว่า เพราะเหตุว่ายากเกินไป แต่ถ้าเข้าใจว่า พระอภิธรรมคืออะไร คือ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก เรื่องการเกิด เรื่องการตาย เรื่องการเจ็บ เรื่องการได้ลาภ เรื่องการเสื่อมลาภ เรื่องการได้ยศ เรื่องการเสื่อมยศ แต่ละเอียด เพราะเหตุว่าไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    โลกทั้งหมด จะกี่โลกก็ตาม ขึ้นไปถึงโลกพระจันทร์ หรืออาจจะไปที่โลกอื่น ซึ่งในยุคนั้น คนอาจจะไปถึงพรหมโลก ก็ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพียงแต่ว่าย้ายหรือเปลี่ยนสถานที่ แต่ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน อย่างสัตว์ ปลาก็ยังมีตา สัตว์ทั้งหลายก็ยังมีหู ทั้งหมดนี้จะไม่พ้น ๖ โลกนี้เลย

    เพราะฉะนั้น ๖ โลกนี้คือพระอภิธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพราะฉะนั้น ก็เป็นการศึกษาที่ทำให้ค่อยๆรู้จักตัวเอง รู้จักโลกตามความเป็นจริง เป็นสัจธรรม


    หมายเลข 4662
    30 ส.ค. 2558