ภิกษุทอดทิ้งความเพียร (อรรถกถาสังวรมหาราชชาดก)


    ขุททกนิกาย ชาดก อรรถกถาสังวรมหาราชชาดก มีข้อความว่า

    ครั้นนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ ผู้ทอดทิ้งความเพียรเสียแล้วรูปหนึ่ง ตรัสเรื่องนี้

    ภิกษุรูปหนึ่งเป็นกุลบุตรชาวพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของ พระผู้มีพระภาคก็มีศรัทธาบรรพชาและอุปสมบท และได้บำเพ็ญอาจาริยวัตร และอุปัชฌายวัตร ท่องพระปาติโมกข์ทั้งสองจนคล่อง มีพรรษาครบ ๕ เรียนกรรมฐาน ลาอาจารย์และอุปัชฌาย์ไปอยู่ป่า เมื่อไปถึงชายแดนตำบลหนึ่ง พวกผู้คนต่างก็เลื่อมใสในอิริยาบถ พากันสร้างบรรณศาลาให้พักและบำรุงอยู่ในตำบลบ้านนั้น

    ครั้นเข้าพรรษาท่านก็เจริญกรรมฐานตลอดไตรมาสด้วยความเพียร แต่ก็ ไม่บรรลุธรรม ท่านดำริว่า ในบรรดาบุคคล ๔ เหล่าที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ท่านคงเป็นประเภทปทปรมะเสียแน่แล้ว จึงออกจากป่าไปสู่พระวิหารเชตวันเพื่อคอยดูพระรูปโฉมของพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันไพเราะ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนั้นจึงตรัสแก่ภิกษุนั้นว่า ผลอันเลิศ ในพระพุทธศาสนานี้คืออรหัตตผล ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เกียจคร้าน ก็แลในปางก่อน เธอเป็นคนมีความเพียร ทนต่อโอวาท แม้เป็นน้องคนสุดท้องแห่งโอรส ๑๐๐ ของ พระเจ้าพาราณสี ตั้งอยู่ในโอวาทของบัณฑิตทั้งหลายก็ถึงเศวตฉัตรเป็นพระราชาได้ และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องในอดีตซึ่งในสมัยนั้นภิกษุรูปนี้เป็นพระเจ้า สังวรมหาราช

    พระเจ้าสังวรมหาราชได้ตรัสคุณธรรมของพระองค์ ซึ่งทำให้หมู่พระญาติและชาวเมืองต่างยอมรับนับถือพระองค์เป็นพระราชา แม้ว่าพระองค์จะเป็นน้องคนสุดท้องในบรรดาโอรส ๑๐๐ ของพระเจ้าพาราณสี

    พระเจ้าสังวรมหาราชได้ตรัสกับพระอุโบสถกุมาร ซึ่งเป็นเจ้าพี่องค์ใหญ่ของพระองค์ ซึ่งในชาติสุดท้ายเป็นท่านพระสารีบุตรว่า

    ข้าแต่พระราชบุตร หม่อมฉันมิได้ริษยาสมณะทั้งหลายผู้แสวงหาคุณอัน ใหญ่หลวง หม่อมฉันนอบน้อมท่านเหล่านั้นโดยเคารพ ไหว้เท้าของท่านผู้คงที่

    มีวิริยะหรือเปล่า ทุกอย่างจะพ้นวิริยะไม่ได้เลย แม้แต่การที่จะไม่ริษยาสมณะซึ่งมีความรู้ บางคนก็แปลก ไม่ริษยาคนอื่น แต่ริษยาคนมีความรู้ นี่เป็นเรื่อง นานาจิตตัง แล้วแต่ว่าจะสะสมความริษยาในรูปใด ซึ่งถ้าผู้ใดมีความรู้แล้ว ควรที่ คนอื่นจะนับถือในความรู้นั้น แต่บุคคลนั้นก็กลับริษยา เพราะฉะนั้น ที่จะไม่ริษยาได้ ก็ต้องมีวิริยะ มีความเพียร เห็นโทษของความริษยา จึงจะละความริษยานั้นได้ แม้แต่การนอบน้อมโดยเคารพ ไหว้เท้าของท่านผู้คงที่ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีวิริยะที่จะขัดเกลากิเลส มานะ ความสำคัญตนที่เป็นโอรสของพระเจ้าพาราณสี

    พระองค์ตรัสต่อไปว่า

    สมณะเหล่านั้นยินดีแล้วในธรรมของผู้แสวงหาคุณ ย่อมพร่ำสอนหม่อมฉัน ผู้ประกอบในคุณธรรม ผู้พอใจฟัง ไม่มีความริษยา หม่อมฉันได้ฟังคำของสมณะ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่หลวงเหล่านั้นแล้ว มิได้ดูหมิ่นสักน้อยหนึ่งเลย ใจของหม่อมฉันยินดีแล้วในธรรม

    กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลเดินเท้า หม่อมฉันไม่ตัด เบี้ยเลี้ยงและบำเหน็จบำนาญของจตุรงคเสนาเหล่านั้นให้ลดน้อยลง อำมาตย์ผู้ใหญ่และข้าราชการผู้มีปรีชาของหม่อมฉันมีอยู่ ช่วยกันบำรุงพระนครพาราณสีให้มีข้าวปลาอาหารมาก มีน้ำดี

    อนึ่ง พวกพ่อค้าผู้มั่งคั่งมาแล้วจากรัฐต่างๆ หม่อมฉันช่วยจัดอารักขาให้ พ่อค้าเหล่านั้น ขอได้โปรดทราบอย่างนี้เถิดเจ้าพี่อุโบสถ

    นี่เป็นเหตุทำให้ผู้คนทั้งปวงเห็นว่า พระองค์ประกอบด้วยคุณธรรมอย่างนี้ สมควรที่จะเป็นพระราชาของพระนครพาราณสี

    พระผู้มีพระภาคทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสย้ำว่า

    ดูกร ภิกษุ เธอทนต่อโอวาทเช่นนี้ บัดนี้เหตุไรไม่กระทำความเพียร

    ทรงประกาศสัจจะ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล ทรงประชุมชาดกว่า สังวรกุมารผู้เป็นพระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุนี้ อุโบสถกุมารในครั้งนั้นได้มาเป็นสารีบุตร พระราชกุมารผู้เป็นพี่ทั้งหลายได้มาเป็น พระเถรานุเถระ และบริษัทได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนอำมาตย์ผู้ถวายโอวาทได้มาเป็นเราตถาคตแล


    หมายเลข 4473
    15 ต.ค. 2566