พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่างไร


    ส.   ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาโดยละเอียด ไม่ใช่เพียงอ่าน เพราะอ่านแล้วก็เข้าใจผิดได้ อย่างเรื่องของผม ขน เล็บ ฟัน หนังที่มีอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมทั้งหมดจะไม่พ้นจากการที่ปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ ก็น่าสงสัยว่า ทำไมถึงมีผม ขน เล็บ ฟัน หนังในมหาสติปัฏฐานด้วย

    อย่างที่เคยกล่าวถึงแล้ว คำว่า “มหา” กว้างใหญ่ ไม่เว้น ก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีผู้แสวงหาทางที่จะหมดจดจากกิเลส แต่เพราะไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้อุทกดาบส อาฬารดาบส ผู้ที่สามารถบรรลุถึงอรูปฌานขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔ ซึ่งเป็นอรูปฌานขั้นสูงสุด ก็ยังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม แต่สามารถถึงอรูปฌานขั้นสูงสุดก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แสดงว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนังซึ่งเป็นทางให้จิตสงบเพราะระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของผมบ้าง ขนเบ้าง เล็บบ้าง ฟันบ้าง หนังบ้าง เล็กน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับความมั่นคงของจิตที่สงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ มีแต่นามธรรมเป็นอารมณ์ ถึงขั้นนั้นก็ยังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็คือผู้ที่พิจารณากาย แล้วเห็นส่วนของกาย โดยความเป็นปฏิกูล คือเราเคยเห็นผมว่าสวย ท่านเหล่านั้นก็มาคิดใหม่ ลักษณะกลมๆ ยาวๆ ตั้งอยู่บนโอกาสที่หนังศีรษะที่ปฏิกูล ถ้าอ่านตามเรื่องก็จะเห็นคำอธิบายของวิธีตรึก พิจารณาอย่างไรให้จิตสงบ แต่ไม่ได้รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้น สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาต่างกัน สมถภาวนามีก่อนการตรัสรู้ เมื่อมีผู้มีปัญญา สามารถเข้าใจว่า แม้ในชีวิตประจำวัน อย่างผม ทุกคนก็มี แต่ติดข้องในผม ทางที่จะไม่ติดข้องก็คือระลึกจนเห็นความเป็นปฏิกูล แต่ก็เพียงสงบระงับ ถ้าถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ก็เป็นฌานจิต แต่ก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นเคยระลึกถึงผมในลักษณะนั้น และได้ฟังพระธรรม ขณะหนึ่งขณะใดที่สัมมาสติเกิด แม้ขณะที่กำลังระลึกถึงความเป็นปฏิกูล ขณะนั้นก็รู้ในความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้จำกัด ไม่ได้เว้นเลย แต่หัวใจของการอบรมเจริญปัญญาก็คือว่า สามารถรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ทางเดียวที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ต่อเมื่อมีปัญญารู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่รู้ก็ยังเป็นผมของเราอยู่นั่นเอง ทุกอย่างก็ต้องเป็นของเรา แต่พอรู้ลักษณะที่เป็นนาม ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้เกิดขึ้นก็ดับไป จะเป็นเราได้อย่างไร เสียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มั่นคงเลย จะเป็นเราได้อย่างไร ทุกอย่างที่เกิดดับก็ไม่เป็นเรา

    เพราะฉะนั้น เวลาที่อ่านสติปัฏฐาน ต้องรู้ว่า ถ้าขณะนั้นไม่ว่าจะมีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีลมหายใจ มีอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใดที่ทรงอยู่ ตั้งอยู่ แล้วก็รูปในอิริยาบถนั้นปรากฏ ก็ต้องเพื่อรู้ลักษณะจริงๆ ของนามธรรมและรูปธรรม ถ้ามิฉะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าไม่รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ที่เราเรียนเรื่องปรมัตถธรรม ก็เพื่อให้แยกความที่ไม่เคยรู้และยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา โดยบัญญัติ โดยสมมติ โดยความจำ ให้รู้จริงๆว่า ขณะใดที่จำว่าเป็นเรา ขณะนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้น การจะรู้ความจริงที่จะเป็นสัจจะ ต้องเป็นความจริงที่เป็นปรมัตถธรรมเท่านั้น สามารถแยกปรมัตถธรรมและบัญญัติออกจากกันได้ จึงจะรู้ว่า สิ่งใดมีจริง สิ่งที่มีจริงเท่านั้นที่เกิดดับ ส่วนสิ่งที่เรียกสมมติ คิด ขณะนั้นเป็นเพียงเรื่องราว ไม่มีสภาพธรรมจริงๆ ก็จะทำให้ประจักษ์การเกิดดับซึ่งเป็นทุกขอริยสัจไม่ได้


    หมายเลข 4424
    30 ส.ค. 2558