ทำบุญเพื่ออะไร


    ผู้ฟัง    อยากให้อาจารย์อธิบายเรื่องทำบุญ ทำกุศล ไม่ทราบว่า จริงๆแล้วจะได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ช่วยให้ความกระจ่างด้วย

    ส.   จริงๆแล้ว อันนี้เป็นปัญหาที่ดีมาก เพราะคนไทยเราคุ้นเคยกับการทำบุญมานานมาก ตั้งแต่เกิดมาก็ทำบุญกันหลายทาง ทั้งใส่บาตร และอื่นๆ แต่ปัญญา ความเข้าใจถูกต้องสำคัญมากที่สุด คือรู้ว่า บุญคือจิตใจที่ดีงามที่เป็นกุศล ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ ถ้ามีของอยู่หลายอย่างบนโต๊ะ ของนั้นก็ยังคงเป็นของนั้น จะเป็นบุญไปได้อย่างไร ใช่ไหมคะ จะเป็นกล้วย เป็นส้ม เป็นอาหาร ก็ยังคงเป็นกล้วย ส้ม อาหาร จะเป็นบุญไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น บุญไม่ได้อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่สภาพของจิตที่ผ่องใส ไม่มีอกุศลใดๆ เพราะฉะนั้น บุญในพระพุทธศาสนามี ๑๐ ประการ ไม่ใช่มีประการเดียว คือ ทานการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ในพระพุทธศาสนาใช้คำว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ฟังดูบางคนก็อาจจะไม่อยากรู้ภาษาบาลีเลย แต่เราใช้คำทุกคำ บุญ เราก็ใช้ กิริยา เราก็ใช้ วัตถุ เราก็ใช้ แต่ว่าให้ใช้ให้ถูก วัตถุ ก็คือที่ตั้ง กิริยา คือการกระทำ บุญ คือ ดีงาม หรือการขัดเกลา เพราะฉะนั้น บุญกิริยาวัตถุ ก็คือวัตถุหรือที่ตั้งของการกระทำซึ่งเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นการขัดเกลาอกุศล เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ มีถึง ๑๐ อย่าง เริ่มต้นด้วยทาน คือการวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ที่ประเทศไทยเรามีความสุขสบายมากกว่าประเทศอื่น ก็เป็นเพราะเหตุว่าเราปลูกฝังพระพุทธศาสนาด้วยการกระทำ เป็นประเพณี แม้ว่าเรายังไม่เข้าใจละเอียดมาก แต่เราก็ทำติดต่อกันด้วยจิตที่เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น สำหรับบุญ ได้แก่จิตขณะใดก็ตามซึ่งเป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีล การวิรัติทุจริตบ้าง เป็นไปในความสงบของจิตบ้าง เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาบ้าง

    จริงๆ แล้วก็มีหนังสือที่พูดถึงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่สำหรับวันนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่องทาน ให้ทราบว่าการทำบุญด้วยวัตถุ คือ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ถ้าเห็นวัตถุที่เรามี พอจะเป็นประโยชน์กับใคร ให้ไปเลย ถ้าเราไม่ใช่วัตถุนั้น ไม่ต้องไปคิดว่า เขาจะว่าเราไหม บางคนก็คิดมาก เคยมีคนคิดมาก จะให้ของใครก็กลัวว่า คนรับเขาจะว่า เหมือนดูถูกเขา ก็แล้วแต่ความวิจิตรของจิตซึ่งคิดได้ต่างๆกัน แต่ถ้าวัตถุนั้นเป็นประโยชน์แล้วเขาต้องการ เราให้ได้ เราก็ให้ ขณะนั้นจิตที่ให้ก็เป็นกุศล แต่ต้องไม่หวังผล ไม่เหมือนกับซื้อขาย เพราะบางคนให้ เพื่อเขาจะได้ให้เราตอบ ให้เพราะเขาจะได้รักเรา คือ จะเป็นการแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ขณะนั้นจิตดีหรือเปล่า ต้องการอะไรหรือเปล่า เพราะว่าบุญนั้นคือจิตใจที่ดีงาม ที่เป็นกุศล ที่ปราศจากอกุศล เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่บุญแน่นอน บางคนก็ให้เพราะกลัว กลัวเขาก็เลยต้องให้ไป อย่างนั้นก็ไม่ใช่บุญอีก

    เพราะฉะนั้น หลักก็คือสภาพของจิตที่ปราศจากความติดข้องในวัตถุนั้นแล้วก็เป็นจิตที่ดีงาม ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นไปในทาน ถ้าโกรธ ให้ไหมคะ ทีแรกก็ตั้งใจจะให้ แต่คนนี้ทำสิ่งที่ไม่ถูกใจ ก็เก็บไว้ก่อน แสดงว่าบุญก็ไม่ได้เกิดง่าย บางทีกำลังจะเกิด ก็จะไม่เกิดขึ้นมาก็ได้ เพราะว่าจิตเกิดสลับกันเร็วมาก

    ด้วยเหตุนี้ถ้ากุศลจิตจะเกิดขณะใด กลัวว่าต่อไปเดี๋ยวกุศลจิตนั้นจะหมดเสีย ก็ต้องรีบกระทำกุศล ถ้ามีโอกาสจะกระทำได้ เพราะว่าจิตของคนเราเปลี่ยนแปลงกลับกรอก ไม่ตั้งอยู่คงที่

    สำหรับเรื่องการให้ ก็คงไม่มีข้อสงสัยว่า ให้โดยไม่หวังผล ถ้าให้แล้วหวังจะเกิดในสวรรค์ บ่อยๆ บางคนก็ให้ หวังจะถูกลอตเตอรี คือมีแต่ความหวัง เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของโลภะ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการให้จริงๆ

    เพราะฉะนั้น เราต้องตรงต่อตัวเอง แล้วก็ตรงต่อธรรม ถ้าให้ก็คือให้ ให้แล้วไม่ต้องไปหวังอะไรเป็นการตอบแทนทั้งหมด แล้วเราก็สบายใจด้วย ถ้าเราให้ด้วยความหวัง แล้วไม่ได้อย่างที่หวัง เราไม่สบายใจแล้วใช่ไหมคะ ให้เพื่อให้เขากลัวเกรงเรา ให้เขารักเรา ให้เขาปฏิบัติเรา แต่ถ้าเขาไม่ปฏิบัติเรา ไม่กลัวเกรงเรา เราก็โกรธขึ้นมาอีก

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่บุญ ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่ใช่บุญ ถ้าเป็นจิตที่ผ่องใส ผลของกุศลก็มีมาก มีคนที่ฟังธรรมแล้วก็ปนกัน คือพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องเหตุและผลว่า ขณะใดที่จิตใจผ่องใส แม้แต่การให้ ให้ด้วยความนอบน้อม ไม่ใช่ให้แบบรังเกียจ หรือให้แบบเป็นผู้ให้ เพราะว่าบางคนเวลาให้มีความสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ให้ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะต้องถือว่า เราเป็นผู้ให้เขา เหมือนมีบุญคุณต่อกัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่การให้ที่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น ถ้าจิตผ่องใสปราศจากอกุศล มีผลมาก มีผลมากตั้งแต่เริ่มให้ เพราะเป็นจิตที่ผ่องใส และเมื่อจิตที่ผ่องใสเป็นเหตุ ผลที่จะได้รับก็ต้องเป็นผลดีกว่า แต่ไม่ใช่ให้ไปติดที่ผล เพราะว่าบางคนพอทราบว่า จะมีผลมากอย่างนั้นๆ ก็พยายามให้เป็นอย่างนั้นๆ แต่ก็ทำไม่ได้


    หมายเลข 4289
    31 ส.ค. 2558