ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ควรกำหนดรู้


    ผู้ฟัง โปรดให้ความสว่างอีกข้อ คือไม่เข้าใจแจ่งแจ้งในหัวข้อต่อไปนี้ที่ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ สมุทัยควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง มรรคควรทำให้มีขึ้น

    ท่านอาจารย์ ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกข์ที่นี่หมายถึง ความเกิดขี้นและดับไปของทุกสิ่งที่เกิดปรากฏ คือนามและรูปนั่นเอง ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามและรูปก็เป็นตัวตนที่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ละ ไม่ใช่อริยสัจจ์ เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้อริยสัจจ์ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้นั้น ก็เพราะเหตุว่าทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นนามแต่ละชนิด รูปแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ส่วนสมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ ก็คือ ละความต้องการในนามและรูปที่ปรากฏ เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามและรูปเท่านั้น เวลานี้ละความต้องการในนามและรูปที่ปรากฏบ้างหรือยัง เห็นทั้งวัน ได้ยินทั้งวัน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นและก็ดับไปตามเหตุปัจจัย ละบ้างหรือยัง สมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ คือละความยินดีต้องการในนามรูปที่ปรากฏ เวลาที่รู้ว่าเป็นนาม เวลาที่รู้ว่าเป็นรูป ละความต้องการที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน นิโรธควรทำให้แจ้ง ทุกขณะที่รู้ลักษณะของนามและรูป ก็จะทำให้เริ่มละความต้องการนามรูป เมื่อเริ่มละความยินดีต้องการ หลงยึดติดมั่นในนามรูป ก็เริ่มจะเป็นหนทางที่นำไปสู่นิพพาน ส่วนมรรคก็เป็นส่วนที่ควรทำให้มีขึ้น เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของการเจริญสติ ถ้าหลงลืมสติก็ไม่สามารถที่จะเกิดปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามและรูปได้

    เพื่อประกอบความเข้าใจของท่าน

    ผู้ฟัง ว่า มีข้อความใดในพระไตรปิฎกบ้างที่ให้ทราบได้ว่า การที่ทุกข์ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง มรรคเป็นสิ่งที่ควรทำให้มีขึ้น

    ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปริญญาสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

    เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ย่อมกำหนดรู้กายได้ เพราะกำหนดรู้กายได้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ (คือ พระนิพพาน)

    กายก็มีตลอดเวลา ผู้ที่จะรู้ชัดในกายได้ คือ ผู้ที่มีความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของกาย สำหรับข้อความต่อไปก็โดยนัยเดียวกัน คือ

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ย่อมกำหนดรู้ได้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

    ใครอยากจะรู้แจ้งนิพพานบ้าง เจริญสติกันทำไม ถ้าไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งก็อาจจะไม่เข้าใจแม้แต่ตัวท่านเอง หรือคนอื่นก็อาจจะพลอยไม่เข้าใจท่านไปด้วย อย่างบางคนอาจจะคิดว่า ผู้ที่เจริญสติไม่ได้อยากไปนิพพาน แต่ขอให้คิดดูว่า ท่านที่ยังไม่ได้เจริญสติมาก่อน มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เริ่มรู้ลักษณะของนาม และรูปบ้างทีละเล็กทีละน้อย ในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เพลินไปด้วยความรู้สึกเป็นตัวตน เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างก่อนๆ ซึ่งความจริงในขณะนั้นท่านน้อมไปแล้วสู่นิพพานทีละเล็กทีละน้อย

    พิจารณารู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ซึ่งมีปรากฏอยู่ตลอดเวลา แล้วสติเริ่มเกิด เริ่มระลึก เริ่มรู้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ


    หมายเลข 3935
    24 ก.ย. 2566