พิจารณาเห็นกายด้วยความปฏิกูล


    ปฏิกูลมนสิการบรรพ เป็นเรื่องของการให้ระลึกถึงสิ่งที่มีอยู่ตามความเป็นจริง อยู่ที่ตัวเอง ทุกท่านทุกคนมี แต่ว่าไม่ค่อยจะได้พิจารณาถึงความจริงว่า สิ่งที่มีอยู่นั้นเป็นของที่ปฏิกูล เป็นของที่ไม่สะอาด พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงปฏิกูลมนสิการบรรพเป็นเรื่องส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้นก็เพื่อจะให้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง และจะเห็นต่อไปว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอย่างไรบ้าง

    ส่วนที่เรายึดถือกันว่า เป็นกาย เป็นเรา เป็นตัวตนนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปาก ๒ ข้าง เต็มด้วยธัญชาติต่างอย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษผู้มีนัยน์ตาดีแก้ไถ้นั้นแล้วพึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง

    พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    จบปฏิกูลมนสิการบรรพ


    หมายเลข 4037
    24 ก.ย. 2566