บางคนฟังธรรมเพราะอยากรู้คำ


    บางคนที่ฟังธรรม เพราะอยากอะไรสักอย่างก็มี เช่นอยากรู้คำเยอะๆ อยากรู้ธรรมมากๆ ได้ยินคำว่า “ปฏิจจสมุปาท” ตื่นเต้น ได้ยินคำว่า “อายตนะกับธาตุ” ก็ตื่นเต้น คำที่ไม่รู้จักเลย แล้วคืออะไร อยากรู้ อยากเข้าใจคำ แต่ว่าไม่ได้คิดเลยว่า ถ้าไม่ได้มีสภาพธรรมขณะนี้ คำเหล่านั้นไม่มีเลย ขณะนี้เห็น ต้องมีสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งสามารถกระทบตาได้ เสียงกระทบตาไม่ได้ ใครจะเห็นเสียงก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นที่กำลังเห็นขณะนี้ มีเห็น แล้วก็มีเสียงที่กำลังปรากฏ พูดแค่นี้ ผู้ที่เข้าใจธรรมแล้วสามารถที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า “อายตนะ” หมายความว่าขณะนั้นต้องมีสภาพธรรมที่เกิดแล้วยังไม่ดับ แล้วก็จะขาดสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่เราคิดเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเลย ขณะที่กำลังเห็นหรือได้ยิน แท้จริงสำหรับทางหูต้องมีเสียง แล้วก็ต้องมีโสตปสาทคือหู ทั้งๆ ที่มีเสียง และมีหู ถ้าเสียงไม่กระทบโสตปสาทที่ยังไม่ดับ และเสียงก็ต้องยังไม่ดับด้วย จิตได้ยินจึงเกิดขึ้นได้ยินเสียงในขณะนี้ที่ยังไม่ดับ ชั่วขณะนั้นต้องมีเสียง ต้องมีโสตปสาท ต้องมีจิตที่กำลังได้ยินเสียง แล้วจิตจะเกิดโดยไม่มีสภาพของเจตสิกซึ่งเป็นธรรม นามธรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่คือความหมายของอายตนะ ไม่ใช่ให้เราท่องจำว่าอายตนะภายใน ๖ ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก ๖ สิ่งที่ปรากฏทางตา ภาษาบาลีจะใช้คำว่ารูปารมณ์ หรือรูปารัมมณะ ถ้าออกเสียงตามภาษาบาลี แล้วก็ มีเสียง มีกลิ่น มีโผฏฐัพพะ ได้แก่สภาพที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่สามารถกระทบกาย และทางใจก็สามารถที่จะรู้สภาพธรรมอื่นที่ไม่สามารถที่จะรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ นี่คือความหมายของอายตนะ แล้วก็ลองพิจารณาว่า ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ เพียงแต่จำแล้วก็บอกได้ บางคนก็อยากจะรู้ได้ยินคำว่าอายตนะ ๖ อายตนะ ๖ ได้แก่อะไร พอได้ยินชื่อก็จำ แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นอายตนะ ทางไหน


    หมายเลข 3925
    20 ก.พ. 2567