สัมปชัญญะ คือ รู้ชัด


    วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ แสดงความหมายของสัมปชัญญะ คือ การรู้ชัด มีข้อความว่า

    ก็ภิกษุเป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติ ในการก้าวไปข้างหน้า แล้วถอยกลับมาข้างหลัง

    เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการแลดูข้างหน้า และเหลียวดูข้างซ้าย ข้างขวา

    เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการคู้อวัยวะเข้า และเหยียดอวัยวะออก

    เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร

    เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส

    เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ

    เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง เป็นอย่างไร

    ภิกษุในศาสนานี้ มีสติสัมปชัญญะก้าวไปข้างหน้า

    มีสติสัมปชัญญะถอยกลับมาข้างหลัง มีสติสัมปชัญญะแลดูข้างหน้า

    มีสติสัมปชัญญะเหลียวดูข้างซ้าย ข้างขวา

    มีสติสัมปชัญญะคู้อวัยวะเข้า มีสติสัมปชัญญะเหยียดอวัยวะออก

    มีสติสัมปชัญญะในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร

    มีสติสัมปชัญญะในการกิน ดื่มเคี้ยว และลิ้มรส

    มีสติสัมปชัญญะในการถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ

    มีสติสัมปชัญญะในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง

    ในบทเหล่านั้น บทว่ามีสติ มีอธิบายว่าสติเป็นไฉน

    เวลาที่เจริญสติ ถ้าไม่รู้ว่าสติมีลักษณะอย่างไร อาจจะจดจ้องต้องการ แต่ไม่ใช่เป็นสภาพของสติ เพราะฉะนั้น ข้อความใน วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ มีว่า

    ในบทเหล่านั้น บทว่ามี สติ มีอธิบายว่า สติ เป็นไฉน

    เพื่อจะให้แยกถึงความต่างกันของ สติ และ สมาธิ

    สติ คือ ความตามระลึก ความหวนระลึก

    สติ คือ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม

    สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ

    บทว่า มีสัมปชัญญะ มีอธิบายว่า สัมปชัญญะ เป็นไฉน

    ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด

    ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่าง คือ ปัญญา แสงสว่าง คือ ปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิอันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ

    ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะนี้ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ ภิกษุชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง แลดูข้างหน้า เหลียวดูข้างซ้ายข้างขวา

    ข้อความต่อไปก็เหมือนกับที่กล่าวแล้ว


    หมายเลข 3846
    24 ก.ย. 2566