ปัญญาเป็นเจตสิกไม่ใช่จิต


    ปัญญาหมายความถึงสภาพธรรมที่เข้าใจถูก เห็นถูก เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่จิต จิตเป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ นี่เป็นหน้าที่ของจิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เช่นขณะนี้กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏ จิตเห็น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดๆก็ตาม จิตสามารถที่จะรู้แจ้งในอารมณ์นั้นๆ ได้ แต่ปัญญาไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้นปัญญาก็เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต เจตสิกทั้งหมดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งจะต้องเกิดกับจิตเท่านั้น จะไม่เกิดนอกจิตเลย ปัญญาเป็นสภาพที่เข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริงของสิ่งที่มี หรือเหตุผลของสิ่งนั้น เวลาที่เราเรียนหนังสือ ครูก็จะมีสมุดพก ไม่ทราบสมัยนี้มีหรือเปล่า ก็จะมีคำว่าเด็กคนนี้ “สติปัญญาดี” แต่ความจริงทั้งสติและปัญญาที่ใช้ในภาษาไทย ไม่ใช่สติเจตสิก และไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ไม่ใช่สภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงว่า คำนี้หมายความถึงสภาพธรรมอะไร ถ้าเป็นปัญญาเจตสิกไม่ได้หมายความถึงเรียนหนังสือเก่ง ไม่ได้หมายความว่าคิดประดิษฐ์อะไร ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆในขณะนี้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังฟังธรรมไม่ได้ฟังวิชาอื่น ถ้าฟังวิชาอื่นไม่ใช่เรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเจตสิก ไม่ใช่เรื่องของรูป ไม่ใช่เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งแม้ว่าไม่เรียกชื่อใดๆเลยทั้งสิ้น สภาพธรรมนั้นก็เป็นจริงอย่างนั้น อย่างเห็น ไม่ต้องเรียกเลยก็เห็น ได้ยินก็ไม่ต้องเรียกเลยก็ได้ยิน เสียงไม่ต้องมีใครเรียกเสียงก็มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครต้องเรียกชื่อใดๆทั้งสิ้น ถ้ามีความเข้าใจยิ่งขึ้น ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง นั่นคือปัญญาเจตสิก


    หมายเลข 3769
    26 ส.ค. 2558