มโนกรรม - ทิฏฐุปาทาน


    ขอกล่าวถึงข้อความในอรรถสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทศทิฏฐุปาทาน ซึ่งมีข้อความของมโนกรรม ๓ ในข้อของทิฏฐิ ซึ่งแสดงว่า

    เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นอันวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล

    แสดงว่าการให้หรือทานนี้ มี เมื่อโลกนี้มี การให้ซึ่งกันและกันย่อมมี การให้ที่เป็นทานย่อมมี แต่สำหรับผู้ที่เห็นผิด ไม่ใช่เห็นว่า ทานไม่มี แต่เห็นว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผล คือ ทาน การให้มี แต่ผลของทาน ไม่มี บางคนก็ถึงกับพูดว่า ยิ่งให้ก็ยิ่งหมด ยิ่งให้ก็ยิ่งยากจน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า คิดว่าทานที่ให้ไปแล้วนั้นไม่มีผล นี่ก็เป็นความเห็นผิดประการหนึ่ง

    การเซ่นสรวงไม่มีผล

    สำหรับการเซ่นสรวง หมายถึงมงคลกิริยา ได้แก่ การคำนับ การต้อนรับ การแสดงมารยาทที่สมควร บางคนก็คิดว่าไม่มีผล แสดงว่าการคำนับ การต้อนรับ มี แต่ผลของการคำนับ หรือการต้อนรับซึ่งเป็นมงคลกิริยานั้น ไม่มี แต่ความจริงทุกอย่างที่ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า ที่เป็นอกุศลนั้นอย่างหนึ่ง และที่เป็นกุศลนั้นอย่างหนึ่ง ต่างกันจริงๆ

    ถ้าเห็นใครต้อนรับใครด้วยใจจริง เป็นกุศลจิตหรือเปล่าคะ ของบุคคลซึ่งต้อนรับ แสดงกิริยาที่เป็นมงคลในการต้อนรับ ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือเปล่า ถ้าเป็นด้วยใจจริง ขณะนั้นก็ต้องเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นอกุศล ก็ตรงกันข้าม ไม่มีมงคลกิริยา ไม่แสดงอาการต้อนรับใดๆ ในขณะนั้นก็ส่องไปถึงสภาพของจิตขณะนั้นว่า จิตในขณะนั้นหยาบกระด้าง หรือว่าเป็นอกุศล ขาดความเมตตา

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นมงคลกิริยา คือ การคำนับ การต้อนรับของบุคคลทั้งหลายในโลกซึ่งมีต่อกัน รู้ว่ามงคลกิริยาเหล่านั้น มี แต่ผลของมงคลกิริยาเหล่านั้น ไม่มี ซึ่งความจริงแล้วเรื่องของกุศลจิตและอกุศลจิตย่อมเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล โดยเฉพาะขึ้นอยู่ที่ความตั้งใจที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศล ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นอกุศล ก็เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นกุศล ก็โดยนัยเดียวกัน ทั้งอกุศลกรรมและกุศลกรรมย่อมทำให้เกิดผล


    หมายเลข 3732
    16 ส.ค. 2558