ผู้ที่จะบรรลุฌานต้องมีสติสัมปชัญญะ


    ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ภาค ๒ ทีปสูตร มีข้อความว่า

    อานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของสติที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า มีข้อความต่อไปว่า

    ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า จะบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

    ผู้ที่จะบรรลุปฐมฌานต้องมีสติสมบูรณ์พร้อมด้วยสัมปชัญญะ ถึงจะบรรลุปฐมฌานได้ ถ้าเป็น ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน โดยจตุกนัย ต้องเป็นผู้มีสติระลึกรู้ที่ลมหายใจจนกระทั่งจิตสงบขึ้นๆ เป็นฌานที่สูงขึ้น

    ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

    ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

    ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

    ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

    อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นอรูปฌาน

    ผู้ที่สามารถเจริญรูปฌานจนกระทั่งถึงจตุตถฌานแล้วทิ้งนิมิต คือ รูป ไม่ใส่ใจในรูปนิมิต แต่ใส่ใจในอากาศ จนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นอากาสานัญจายตนฌานได้ จะต้องเป็นผู้มีวสี มีความชำนาญ มีความแคล่วคล่อง รู้เรื่องของการที่จะเจริญสมาธิในขั้นสงบประณีตยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ไม่สามารถในการเจริญสติ ในการเจริญสมาธิแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถถึงขั้นที่จะบรรลุอรูปฌานได้

    ผู้ที่จะเจริญอรูปฌานได้นั้นจะต้องบรรลุจตุตถฌานเสียก่อน ซึ่งเป็นฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์ แล้วทิ้งรูปนิมิต ไม่ใส่ใจในรูปนิมิต จึงจะสามารถทำให้จิตตั้งมั่นคงในอรูปกัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ สามารถที่จะพิจารณาลักษณะของลมหายใจได้จนกระทั่งถึงจตุตถฌาน ย่อมพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยการที่มนสิการอานาปานสติ เป็นเบื้องต้น


    หมายเลข 3534
    24 ก.ย. 2566