อานาปานสติ


    อย่างท่านที่เคยสะสมมาในการเจริญอานาปานสติมาในครั้งอดีตในครั้งพุทธกาล มีความชำนาญในฌาน ในสมาธิ และเวลาที่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐาน จิตของท่านก็น้อมไปสู่ลมหายใจเพราะเคยเจริญ แต่สติจะต้องระลึกรู้ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของลม และละความยึดถือว่าเป็นตัวตน นั่นสำหรับท่านที่เคยเจริญอานาปานสติมา

    แต่ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทในสมัยนี้ อย่าคิดที่จะเจริญสติปัฏฐานตามแบบของผู้หนึ่งผู้ใด ถ้าท่านได้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์เพื่อเป็นบรรพชิต แล้วท่านก็คิดว่าท่านจะต้องประพฤติอย่างนั้น ในปฐมยาม หรือในมัชฌิมยาม ในปัจฉิมยาม จะต้องให้จิตสงบ ระลึกชาติ หรือรู้จุติปฏิสนธิ แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั่นเป็นการพยายามทำตามแบบ แต่ตัวท่านไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่จะไปทำตามแบบนั้นแบบนี้ เมื่อผู้ที่ได้เคยเจริญอานาปานสติมาก่อน ท่านจะเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็ต้องตั้งต้นด้วยอานาปานสติ นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปทำตามแบบ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานให้ถูกต้อง ซึ่งแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกันเลย มีการเห็น มีการได้ยินจริง แต่บางคนเป็นโลภะ บางคนเป็นโทสะ บางคนเป็นกุศลจิต บางคนเป็นอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น แล้วแต่นามรูปประเภทใดเกิดกับบุคคลใด ผู้นั้นก็มีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดกับตนเป็นอัธยาศัยของตนจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปทำตามแบบบุคคลอื่น

    ถ้าสติของใครจะเกิดระลึกรู้ที่ลมหายใจ จะทำอย่างไร รีบเปลี่ยนหรืออย่างไร เป็นเรื่องของมหาบุรุษ เราไม่ใช่มหาบุรุษเจริญไม่ได้ หรืออย่างไร เรื่องของการละกิเลสยากเหลือเกิน ยากจริงๆ เวลาระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป อาจจะมีความพอใจยินดีอยู่ในขณะนั้นโดยที่ไม่ละไม่คลายได้ หรืออาจจะไม่พอใจ เป็นโทมนัส ไม่ชอบในอารมณ์นั้นก็ได้ กลัว หวั่นไหว ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองจะรู้การเกิดดับของลมหายใจได้และรีบเปลี่ยน ก็เป็นลักษณะของตัวตนอีกแล้ว

    ถ้าผู้ใดไม่เจริญสติตามปกติจนกระทั่งชินกับนามและรูป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนามรูปประเภทใด ก็เป็นแต่เพียงนามเป็นแต่เพียงรูปเท่านั้น และรู้ชัดขึ้น ละคลายเพิ่มขึ้น จึงจะเป็นหนทางให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    แต่ก่อนที่จะถึงขั้นนั้นก็ยาก มีแต่ความหวั่นไหว ไม่พิจารณานามรูปที่กำลังปรากฏ หรือว่าดีใจตื่นเต้น เลยจดจ้องต้องการที่จะให้รู้ชัดขึ้น นี่เป็นเรื่องที่สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ละเอียดขึ้น แล้วก็ละคลายมากขึ้น


    หมายเลข 3653
    24 ก.ย. 2566