ผู้ที่ทรงปริยัติเพื่อจำมากเป็นพหูสูตได้ไหม


    สันติ   ไม่ใช่เป็นผู้ทรงปริยัติ แต่บรรลุเป็นพระอริยเจ้า ก็เป็นพหูสูตด้วยใช่ไหมครับ

    ส.   ถ้าไม่เป็น ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งธรรมได้ เพราะว่าเราก็เคยฟังมาแล้วเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ๒ คำ หรือปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป และสามารถรู้ความละเอียดโดยศึกษาเรื่องของจิตเพิ่มขึ้น เรื่องของเจตสิกเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น กว่าจะละ สละความเป็นเราที่เห็น ก็ต้องอาศัยการฟังอีกมากมาย พร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาตามที่ได้ยินได้ฟังด้วย

    สันติ   ถ้าเป็นผู้ทรงจำได้มาก ทั้งพระไตรปิฎก แต่ไม่เข้าใจสภาพธรรม จะเป็นพหูสูตไหมครับ

    ส.   ก็ลองคิดถึงทัพพี เราใช้คนแกง จากแกงหม้อไหนก็ได้ คนได้หมด แต่ทัพพีไม่สามารถรู้รสของแกงได้ฉันใด ผู้ฟังมาก แล้วจำมาก แต่ไม่รู้ประโยชน์ ประโยชน์สำคัญที่สุดว่าฟังเพื่ออะไร นี่เป็นจุดที่ถูกต้องว่า ถ้าจิตตั้งไว้ชอบ ขณะนั้นก็สามารถอบรมสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าฟังมากเพื่อจะรู้และจำมาก แต่ไม่สามารถเข้าใจว่า ประโยชน์ของการฟังเพื่อเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ การเรียนของการก็สูญเปล่า เพราะถึงแม้จะเรียนไป แต่สภาพธรรมก็กำลังปรากฏ และยังคงไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทั้งๆที่ศึกษาว่าไม่ใช่เรา ไม่มีตัวตน ขณะที่เห็นเป็นธาตุหรือเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดเมื่อมีสิ่งที่กระทบกับจักขุปสาท คือเหตุผลต้องกำกับตลอด จิตนี้จะเกิดเมื่อรูปนี้กระทบกับจักขุปสาท เป็นปัจจัยให้มีสภาพรู้ หรือธาตุที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เราก็ฟัง แต่ถ้าฟังแล้วไม่น้อมที่จะค่อยๆเข้าใจ ค่อยๆเห็นว่า ธาตุชนิดนี้มีจริงๆ กำลังเป็นอย่างนี้ กำลังทำกิจอย่างนี้ ก็จะทำให้ไม่มีทางรู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย ก็เพียงฟังไปตลอด

    อีกอย่างหนึ่งหลายคนอาจจะบอกว่า คนที่ฟังธรรม แต่ความประพฤติในชีวิตประจำวันไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับธรรม มีไหมคะ หรือว่าไม่มี มีแน่นอน เพราะฉะนั้น ผู้นั้นถึงแม้จะรู้มาก จำได้มาก แต่มีการเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของพระธรรมว่า เพื่อสิกขา คือประพฤติปฏิบัติตาม การศึกษาไม่ใช่ศึกษาเพียงเรื่องราว คำ แต่ศึกษาด้วยการน้อมเข้าใจเพื่อจะประพฤติปฏิบัติตาม

    เพราะฉะนั้น บางคนเรียนมากแต่ไม่เมตตา ก็เห็นได้เลยว่า เรียนเข้าใจเรื่องราว แต่ขณะนั้นระลึกได้หรือเปล่าว่า ทรงสอนเรื่องสภาพของจิตฝ่ายดี หรือกุศล ซึ่งตรงกันข้ามกับอกุศล เพราะฉะนั้น คนนั้นอาจจะอยากเรียนมากๆ อ่านหนังสือมากๆ ฟังเทปมากๆ แต่ไม่สนใจที่จะรู้ว่า จรณะ คือความประพฤติในชีวิตประจำวันขั้นศีลมีหรือเปล่า ถ้าสามารถล่วงศีล โดยไม่เห็นโทษ ไม่เห็นภัย และไม่เห็นประโยชน์ว่าเรียนทำไม ยังคงมีความประพฤติที่ไม่เป็นไปทางฝ่ายกุศล คนนั้นก็จะมีแต่ความจำเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ไม่ได้ประโยชน์ หวังอย่างเดียวเพื่อให้สติปัฏฐานเกิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้สติปัฏฐานโดยที่จรณะก็ยังไม่มี แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ไม่มีโอกาสพิจารณาให้เห็นประโยชน์จริงๆ ประโยชน์ก็ไม่เกิด แต่เพราะเหตุว่าสะสมมามาก และมีอัธยาศัยที่เมื่อได้ฟังแล้ว การสะสมทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นพิจารณาโดยแยบคายในขณะนั้นโดยความถูกต้อง ทำให้เห็นประโยชน์และประพฤติในทางที่ถูกต้องได้

    ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดจริงๆ ก็จะรู้ความจริงว่า จิต ๑ ขณะที่เกิดขึ้นมีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนเหตุปัจจัยได้ เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า “สังขตธรรม” ปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด ไม่ว่าจะเป็นกายที่ดีหรือที่ไม่ดี วาจาที่ดีหรือที่ไม่ดี ก็เป็นสังขตะเมื่อเกิด เพราะว่าปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นๆ แต่ถ้าเข้าใจความหมายของอดทนว่า ไม่ใช่เพียงอดทนที่จะไม่พูด หรือไม่ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือทำให้คนอื่นไม่สบายใจ แต่อดทนยิ่งกว่านั้นมาก คืออดทนที่จะรู้สภาพของจิต สภาพของธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเลือกไม่ได้ แล้วก็ได้ศึกษามาแล้วว่า เป็นเพียงสภาพธรรม เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่จะต้องอดทนที่จะค่อยๆเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏสั้นมากแล้วดับไป

    เพราะฉะนั้น จึงไม่มีการเลือก จึงไม่มีการคอย จึงไม่มีการหวัง และความอดทนนี้จะเห็นว่า ต้องอดทนนานแสนนานกว่าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนิดเดียวแล้วดับ ยังไม่ทันที่ใครจะเปลี่ยนแปลงว่าให้เป็นอย่างนี้ จะกำหนดอย่างนั้น จะดูอย่างโน้น จะเป็นอย่างนี้อย่างนั้น สภาพธรรมนั้นๆดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้สภาพธรรมมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นสังขตธรรม สิ่งที่เกิดเร็วมาก

    เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ความอดทนจะมากกว่าความอดทนอื่นสักแค่ไหน ที่จะอดทนจนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงเกิดแล้วก็ดับอย่างเร็วมาก แต่ก็เป็นความจริง

    เพราะฉะนั้น ต้องอดทนเพิ่มขึ้นอีก คือ อดทนทางกาย ทางวาจา ก็ยังไม่พอ ต้องทางใจที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วย แล้วจะเห็นประโยชน์ของความอดทนจริงๆ


    หมายเลข 3345
    1 ก.ย. 2558