สติปัฏฐาน กับ การจดจ้อง


    ผู้ฟัง สงสัยคำว่า จดจ้อง อาจารย์กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น เราจะต้องเจริญไปตามธรรมชาติ ไม่ให้จดจ้องในนามหรือรูปอันใดอันหนึ่ง สมมติว่าเราฟังธรรม ถ้าสติเราไม่จดจ้องในเสียงที่พระท่านแสดง หรือตามที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดบรรยายก็ดี เราจะไม่รู้ทั่วถึงธรรมนั้น หมายความว่าเดี๋ยวเราก็เอาสติไปกำหนดรูปอื่นนามอื่น ไม่กำหนดเสียงพระที่ท่านบรรยายนี้ คำว่าจดจ้องในที่นี้มีความหมายแค่ไหน ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กำลังฟัง ก็รู้เรื่องด้วยเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งบัดนี้ แต่สติที่เป็นสติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดระลึกขึ้นได้บางขณะ อาจจะระลึกว่า ที่กำลังได้ยินนี้ก็เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่งทางหู หรือระลึกว่า ที่กำลังรู้เรื่องนี้ก็เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วก็ได้ยินต่อไป รู้เรื่องต่อไปตามปกติ ไม่ใช่ผิดปกติ และไม่ใช่บังคับไม่ให้สติปัฏฐานเกิด มิฉะนั้นแล้วจะฟังไม่รู้เรื่อง หรือไม่ใช่จดจ้องว่า ต้องให้มีสติทุกๆ คำพูด ทุกๆ ขณะที่ได้ยิน ทุกๆ ขณะที่รู้เรื่อง

    ไม่ใช่มีตัวตนที่ไปบังคับอย่างนั้น เพียงแต่ว่า เมื่อมีการฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน มีการฟังเรื่องให้เกิดวิริยะความเพียร เพราะเหตุว่า ชีวิตนี้ก็ไม่มีใครทราบว่าจะยาว จะสั้น จะมากน้อยแค่ไหน ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร ขณะไหน ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น โอกาสที่มีค่าที่สุด ก็คือ สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป บ่อยๆ เนืองๆ ทุกๆ ขณะ สะสมเจริญให้มากขึ้น นี่เป็น วิริยกถา

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของการควรเจริญความเพียรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ มากน้อยแล้วแต่โอกาส แต่ไม่ใช่มีตัวตนต้องการที่จะจดจ้อง ที่จะให้สติเกิดเรื่อยๆ ติดต่อกัน หรือว่าจะยับยั้งไม่ให้สติเกิด

    ที่บางท่านเข้าใจว่า ถ้าไม่ตั้งใจฟัง ก็ไม่รู้เรื่อง เวลานี้ ทุกท่านก็ฟังมาแล้ว ก็คงจะรู้เรื่อง แต่ว่า ถ้าสติไม่เกิด รู้เรื่องนั้นก็เป็นตัวตน ฟังรู้เรื่อง แต่ก็เป็นตัวตนที่กำลังรู้เรื่อง แต่ถ้าสติระลึกได้ ก็รู้ว่า ที่รู้เรื่องนี้ก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็หมดแล้ว ไม่ใส่ใจ ไม่พะวง ไม่ห่วงใย ไม่กังวล สติก็ระลึกรู้นามและรูปใหม่ที่กำลังปรากฏเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ต่อไปเรื่อยๆ ทุกๆ ขณะ ไม่พะวงถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว นามรู้เรื่องก็หมดไปแล้ว แล้วก็ขณะที่กำลังรู้เรื่องนี้ ถ้าระลึกได้บ่อยๆ ก็จะทราบว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ก็จะไม่มีอะไรไปขัดขวาง ไปทำความกังวล แม้ในขณะที่รู้เรื่อง แต่ตรงกันข้าม ถ้าคิดว่า ขณะที่รู้เรื่อง ไม่ใช่สติปัฏฐาน จะมีความกังวล ติดข้อง ไม่กล้าที่จะให้สติเกิดขึ้น และการยึดถือการรู้เรื่องว่าเป็นตัวตน ก็ยังคงมีตลอดไปเรื่อยๆ เพราะสติไม่เคยระลึกได้ แม้ชั่วครั้งชั่วคราว

    กว่าที่จะรู้ชัดว่า เป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูปนั้น การระลึกได้ ก็จะต้องมีบ่อยขึ้น มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าต้องให้มีติดต่อกันตลอดเวลา ถ้าให้ติดต่อกันตลอดเวลา ก็เป็นการจงใจ ที่จะให้เฉพาะได้ยิน แล้วก็ไม่ให้รู้เรื่อง นั่นก็เป็นการไปบังคับวิถีจิต เป็นอัตตาที่บังคับไว้ แต่รู้เรื่องก็หมดไปแล้ว เวลานี้เห็นกำลังมี สติก็ระลึกถึงนามรูปที่กำลังปรากฏต่อไปได้

    ข้อสำคัญคือว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่างไม่เว้น ขณะที่รู้เรื่องก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ไม่ควรรู้

    ที่ว่าจดจ้อง หรือจงใจนั้น เป็นเพราะเข้าใจผิดคิดว่า เฉพาะนามนั้นเท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน รูปนี้เท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน ถ้ามีความเข้าใจผิดอย่างนี้จะหวั่นไหว จะมีตัวตนที่รีบหันกลับมาพิจารณาเฉพาะนามนั้นรูปนั้นที่คิดว่าเป็นสติปัฏฐานเท่านั้น เป็นการจำกัดปัญญา ไม่ใช่เป็นการละคลายเพราะว่ารู้มากขึ้น ข้อสำคัญที่สุด คือ การฟังธรรมแล้วสงเคราะห์ธรรม ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    โดยการฟังทราบว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรเลยที่เป็นอัตตา นามที่รู้เรื่องก็เป็นของจริง ขณะใดที่รู้เรื่องก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน โดยการปฏิบัติ ธรรมทั้งหลายก็ต้องเป็นอนัตตาเช่นกัน แต่สติระลึกรู้ลักษณะของธรรมนั้นๆ ด้วย ที่ยังไม่เคยระลึกก็จะต้องระลึกแล้วก็รู้มากขึ้น เพิ่มขึ้น ทั่วขึ้น ชัดขึ้น

    ขณะที่กำลังฟังรู้เรื่องก็ระลึกได้ว่า เป็นเพียงนามชนิดหนึ่งเท่านั้นที่รู้ สภาพรู้เรื่องก็เหมือนกับสภาพที่คิดนึก เป็นนามธรรม เกิดขึ้นทางมโนทวารหรือว่าทางใจ ไม่ใช่เห็นสี ไม่ใช่ได้ยินเสียง ไม่ใช่รู้กลิ่น แต่เป็นสภาพที่รู้เรื่องราวต่างๆ เป็นสภาพที่รู้ความหมายต่างๆ เวลาคิดนึกก็เป็นสภาพที่รู้ไปคิดไปในเรื่องต่างๆ ก็เหมือนกัน ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น


    หมายเลข 3307
    24 ก.ย. 2566