การเจริญสติระลึกรู้เสียงกับได้ยิน


    ผู้ฟัง เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ทางโสตทวาร กำหนดเสียงเป็นอารมณ์ ท่านบอกว่า เวลาเมื่อเสียงมากระทบโสตทวาร ก็เพียงรู้สักแต่ว่าเสียง ถ้าหาวกว่า เรามีสติรู้เพียงว่า สักแต่ว่าเสียง อย่างนี้ เราจะฟังอะไร ก็ฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าหากว่ารู้ต่อไปก็จะเป็นการรู้บัญญัติไป สำหรับข้อนี้จะเป็นการผิดหรือถูก ขอให้อาจารย์ช่วยวินิจฉัย

    ท่านอาจารย์ เสียงก็เป็นของจริง นามที่รู้เสียงก็เป็นของจริง นามที่รู้ความหมายของเสียงก็เป็นของจริง สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน เสียงก็ไม่ใช่ตัวตน ปรากฏเฉพาะทางหูแล้วก็หมดไป ที่จะยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้นไม่ได้ ธรรมชาติที่ได้ยิน ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็หมดไป เมื่อธรรมชาติที่ได้ยินดับไปแล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยให้จิตต่อๆ ไปเกิดขึ้น รวมทั้งจิตที่รู้ความหมายของเสียงที่ได้ยินด้วย เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติระลึกรู้ว่า ที่กำลังรู้เรื่องในขณะนี้ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่รูปธรรม แต่ไม่ใช่มีผู้หนึ่งผู้ใดไปกั้น เป็นอัตตาว่า ให้รู้เพียงแค่เสียง อย่าให้รู้เรื่อง เพราะเหตุที่สภาพที่รู้เรื่องเป็นของจริง แต่เป็นนามธรรม รูปรู้อะไรไม่ได้ รูปรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ ไม่ได้ แต่ว่า นามธรรมนั้นเป็นธรรมชาติที่รู้ได้ เพราะฉะนั้นขณะใดที่รู้ความหมายของเสียง รู้เรื่องที่กำลังได้ยิน ขณะนั้นสติก็รู้ว่าธาตุที่รู้นั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าการเจริญสติปัฏฐานยับยั้งให้มีเพียงแค่เสียงกับได้ยิน ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่เกื้อกูลกับสาวกเลย เพราะเหตุว่าไม่รู้เรื่องว่าทรงแสดงว่าอย่างไร มีแต่เสียงเท่านั้นเองเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเสียงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสียงนก เสียงใบไม้ เสียงลม ก็เป็นเพียงแค่เสียงเท่านั้น เพราะฉะนั้น ธรรมนั้นจะอุปการะเกื้อกูลแก่สาวกได้อย่างไร ถ้ามีการเจริญสติเพียงแค่เสียง แต่ที่ท่านอัญญาโกณฑัญญะบรรลุอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยสาวก เมื่อได้ฟังธรรม ธรรมเกื้อกูล อุปการะ อนุเคราะห์ ให้ท่านเข้าใจ แล้วก็มนสิการพิจารณารู้ชัดในลักษณะของธรรมทั้งปวงที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ตามความเป็นจริง ทางตามีนามมีรูป ทางหูมีนามมีรูป ทางจมูกมีนามมีรูป ทางลิ้นมีนามมีรูป ทางกายมีนามมีรูป ทางใจมีนามมีรูป สภาพของจิตที่รู้เรื่อง เป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ทางใจว่าลักษณะนั้นเป็นนามชนิดหนึ่ง มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ส่วนที่รู้เรื่อง รู้ความหมายนั่นเป็นอะไร ก็ต้องเป็นตัวตน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ว่าเป็นนามชนิดหนึ่งเท่านั้น ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงบัดนี้ หรือแม้ในวัฏฏะที่ยืดยาว ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงนามและรูปชนิดต่างๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน โดยนัยของพระอภิธรรมก็ได้แสดงไว้ว่า เมื่อมีการได้ยินทางโสตทวาร นามรูปทางโสตทวารดับไปแล้ว นามรูปทางใจ ก็รับเสียงสัททารมณ์นั้นต่อ หลายขณะ และมีนามที่รู้ความหมาย เกิดต่อ แล้วก็ดับไป นามที่รู้ความหมายก็ดับ ไม่ใช่รู้ความหมายอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ดับ ถ้าเป็นบัญญัติธรรม ไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการดับไป แต่ที่รู้ความหมายนั้น มีแล้วก็หมด เกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น สภาพที่รู้ความหมายนั้น เป็นนามชนิดหนึ่ง ซึ่งสติก็จะต้องระลึกรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นเพียงนามชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่ได้ยิน จึงจะแยกโลกทั้ง ๖ โลกนี้ กระจัดกระจาย ไม่มีสาระ ไม่มีการยึดมั่นว่าเป็นตัวตนได้ ถ้ายังรวมติดกันอยู่ ไม่รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของเสียงกับได้ยิน ของนามที่รู้เรื่อง เวลาที่สภาพธรรมนั้นหมดสิ้นไป ปัญญาก็ไม่รู้ชัดว่า เสียงดับ หรือได้ยินดับ หรือว่ารู้เรื่องดับ เพราะเหตุว่า ได้ยินก็รู้เรื่องแล้ว แต่สภาพที่รู้เรื่องนั้นเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ได้ยิน และไม่ใช่เสียงด้วย ถ้าเริ่มรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปที่เกิดดับสืบต่อกัน ก็จะประจักษ์ว่า แต่ละนามแต่ละรูปนั้นไม่ใช่ประเภทเดียวกัน เกิดดับสืบต่อกันจริง แต่ว่าเป็นนามแต่ละชนิดเป็นรูปแต่ละชนิด แล้วก็จะไม่หวั่นไหว จะไม่มีตัวตนที่คอยไปกั้นเอาไว้ว่าเพียงแต่ให้ได้ยินเสียง ถ้าเพียงแต่ได้ยินเสียงแล้ว ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่เกื้อกูล ไม่อุปการะแก่สัตว์โลกเลย ใครที่กำลังรู้เรื่อง ก็ต้องเป็นนามชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่โสตวิญญาณ เป็นนามอีกชนิดหนึ่ง เป็นสภาพที่รู้เรื่อง

    แล้วในวันหนึ่งๆ โดยตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีการรู้เรื่องรู้ความหมายของสิ่งที่รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว รับประทานอาหารก็ไม่ได้ ทำกิจการงานก็ไม่ได้ นอนก็ไม่ได้ เจ็บไข้ได้ป่วย รับประทานยาก็ไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เพราะไม่รู้อะไร แต่สภาพที่รู้นั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเองที่สติระลึกรู้แล้วก็หมดไป เพราะว่าเมื่อรู้เรื่องแล้วก็หมด แล้วก็มีเห็น แล้วก็มีได้ยิน แล้วก็มีสุข แล้วก็มีเสียง แล้วก็มีรูป แล้วก็มีกลิ่น ตลอดเวลาไม่เคยขาด เป็นเครื่องให้สติระลึกได้ทั้งสิ้น


    หมายเลข 3090
    24 ก.ย. 2566