เบิกบานด้วยวิปัสสนาอย่างไร


    ส่วนเบิกบานด้วยวิปัสสนานั้นอย่างไร

    เวลาที่เข้าปฐมฌาน หรือทุติยฌาน แล้วออกจากฌาน พิจารณาปีติที่เกิดร่วมกับฌานจิตนั้นโดยความสิ้นไปเสื่อมไป ย่อมบันเทิงปราโมทย์ นี่โดยนัยของวิปัสสนา

    ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดเจริญสติ พิจารณาลักษณะของนามและรูป แล้วประจักษ์ความเสื่อมไป สิ้นไป ความไม่เที่ยงของนามรูป มีปัญญารู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะปีติปราโมทย์ไหม ถ้าท่านได้ประจักษ์สภาพธรรมซึ่งเป็นนามเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตนทั่วถ้วน ไม่ว่าจะเป็นนามใดๆ รูปใดๆ เป็นมหาวิปัสสนา คลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะมีนามรูปปริจเฉทญาณ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป เพราะรู้ปัจจัยของนามและรูปที่เกิดปรากฏว่า นามและรูปนั้นๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เมื่อละคลาย รู้การเกิดดับสืบต่อกัน และยังสามารถที่จะมีปัญญาแทงตลอดในความไม่เที่ยง ความเกิดดับของนามและรูป จิตใจจะเป็นอย่างไร หดหู่ โศกเศร้า ท้อถอย หรือว่า บันเทิง ร่าเริง

    ขอให้เทียบดูลักษณะของจิตใจ ในขณะที่สติไม่เกิด อาจจะเป็นห่วงกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนโน้นจะคิดอย่างไร คนนี้จะต้องการอะไร ทำอะไรไปแล้วจะถูกใจคนโน้นไหม จะดีไหม ล้วนแต่เป็นเรื่องกังวลทั้งสิ้นในขณะที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของเพียงนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย แต่พอระลึกได้ สติรู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปล่อยแล้ว วางแล้ว มีแต่เฉพาะลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพียงเท่านั้น ก็ทำให้เบาใจ ไม่ยึดถือ ไม่ห่วงใยเรื่องยุ่งๆ เมื่อสักครู่นี้

    นี่เป็นเพียงการเจริญสติที่ปัญญาเริ่มรู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามรูปแต่ละชนิดแต่ละลักษณะเท่านั้นเอง และถ้าสามารถจะประจักษ์ชัดถึงสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนยิ่งกว่านั้น คือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความเบาใจ ความโล่งใจเพราะไม่ยึดถือนามรูปนั้นย่อมทำให้จิตใจปีติบันเทิงที่ได้รู้ความจริง ไม่ใช่เศร้าสร้อย เสียดายว่า ไม่ใช่เราอีกต่อไป นั่นไม่ใช่เรื่องปัญญา เรื่องของปัญญาเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิต ถ้าเป็นมหากุศลจิต จะไม่ทำให้เกิดความทุกข์เลย ความรู้สึกเป็นทุกข์เป็นอกุศลจิต เป็นโทสมูลจิต ร้องไห้ โศกเศร้า คร่ำครวญ เสียดาย นั่นเป็นเรื่องของอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของธรรมแล้ว มีความบันเทิง เบาใจ โล่งใจ ไม่ยึดไม่ติดว่าเป็นตัวตน ไม่หลงผิด ไม่เข้าใจผิด พ้นจากความเคยเห็นผิด พ้นจากความเคยยึดถือ พ้นจากความเคยหลงผิดในสิ่งนั้นๆ เพราะฉะนั้น ความปีติ ความบันเทิงก็เกิด

    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้น ความบันเทิง ความเบาใจ ความโล่งใจก็เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่ายิ่งเจริญหน้าตายิ่งเหี่ยวแห้ง ทุกข์โศก ตรอมตรม ผอมดำยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้น อะไรๆ ก็เป็นทุกข์ ปัญญารู้ทุกข์ แต่ไม่ใช่เป็นทุกข์เพราะปัญญา

    เพราะฉะนั้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ที่เห็นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในความผ่องใสเอิบอิ่มในธรรมของท่าน ไม่ใช่ว่าจะไปเคี่ยวเข็ญให้เป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ แล้วก็บันเทิง โล่งใจ ไม่ยึดไม่ถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน


    หมายเลข 3089
    24 ก.ย. 2566