ถ้าสติเกิด ก็มีศีลสังวร


    เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาจรณะตั้งแต่ข้อที่ ๑ คือ ศีลสังวร ทุกคนซึ่งเป็นชาวพุทธก็รู้ว่า สำหรับคฤหัสถ์ ก็ได้แก่ ศีล ๕ ถ้าคนที่มีกิเลสมากก็สามารถที่จะล่วงทุจริตกรรม ล่วงศีล ๕ ได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ ก็จะรู้ได้ว่า เรื่องของกาย วาจา ไม่ควรที่จะเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน เพราะเหตุว่าการที่จะเบียดเบียนคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจาได้ ทุกคนมีความโกรธ แต่ว่ายังไม่ได้กระทำกายวาจาซึ่งเบียดเบียนคนอื่น เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ได้ล่วงศีล แต่ถ้ามีความโกรธ และขาดความเมตตา แล้วก็สามารถที่จะทำทุจริตกรรมได้ ขณะนั้นก็จะถึงนิพพานได้ไหม ในเมื่อกิเลสก็มีมาก และขณะนั้นก็ไม่รู้ตัวด้วยว่า เป็นกิเลสระดับที่สามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมได้

    เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันของคนที่ได้ฟังธรรม ได้ศึกษาธรรม เพื่อหนทางที่จะเดินไปสู่ทางที่จะดับกิเลส ต้องเป็นผู้มีสติที่จะเห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย แต่ว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยที่ยังจะต้องเกิดอยู่ คนนั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ปัญญาไม่ถึงระดับขั้นที่จะดับกิเลสได้ เพียงสติที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลบ้าง หรืออกุศลบ้าง ด้วยความเป็นตัวตน


    หมายเลข 2529
    14 ม.ค. 2567