ทุกข์ กับ ทุกขอริยสัจจ์ต่างกันอย่างไร


    คุณหญิงณพรัตน์ ไม่ทราบว่า ปรมัตถ์กับบัญญัติ และเรื่องละกิเลส

    ส. ค่ะ ความเข้าใจที่ถูกต้องทำหน้าที่ละความไม่รู้ ละความเห็นผิด

    ทรงเกียรติ ปรมัตถ์ ถ้าเราจะพิจารณาคร่าวๆ เพื่อให้จดจำ ถ้าหากเพียงจำว่า คือสิ่งที่มีจริง หรือเป็นธาตุ เพื่อละกิเลส

    ส. มีลักษณะปรากฏ ลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏ อย่างเสียงเป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง และกำลังปรากฏ ได้ยินก็มีจริงๆ แต่ไม่เคยระลึกว่า นอกจากเสียงแล้ว ต้องมีได้ยิน มีสภาพที่กำลังรู้เสียง จะมีเสียงโดยไม่มีสภาพรู้หรือได้ยินไม่ได้ ก็ต้องรู้ว่า ในขณะที่เสียงปรากฏ ก็มีสภาพที่รู้ จนกระทั่งถอยลงไปตั้งแต่เกิดจนตาย จนถึงเดี๋ยวนี้ หรือในขณะนี้เองก็มีแต่นามธรรมและรูปธรรม คือระลึกได้เสมอว่า มีแต่สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ในความเป็นปรมัตถ์

    นี่คือการจะเจริญอบรมปัญญาเพื่อรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ เมื่อรู้ว่า เป็นปรมัตถ์ จึงไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าลักษณะของปรมัตถ์แต่ละอย่างมีลักษณะเฉพาะ แล้วปรากฏ แล้วก็หมดไปด้วย ไม่ได้ปรากฏมากมาย ที่จะตั้งอยู่ ทรงอยู่ แต่ว่าขณะใดที่ไม่ใช่ปรมัตถ์ ขณะนั้นเป็นการนึกคิดเรื่องราว

    คุณหญิงณพรัตน์ ทีนี้เมื่อไม่สามารถจดจำปรมัตถ์ได้ทั้งหมด เพราะว่าปรมัตถธรรมทั้งหมดคือรูปกับนาม ซึ่งเราควรจะละ แต่เมื่อยังไม่ได้ศึกษาละเอียด หรือว่าทั่วถึง เราก็ไม่สามารถละได้ในขณะนี้ แต่ก็พยายามฟังท่านอาจารย์อยู่

    ส. คือต้องรู้ก่อน ต้องให้ปัญญาเจริญขึ้น แล้วปัญญาทำกิจละ เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญายังไม่เกิด ยังไม่เจริญ ก็ละอะไรไม่ได้ แต่ค่อยๆ อบรมรู้ คือ ปัญญาให้เพิ่มขึ้น และปรมัตถธรรมให้ทราบว่า ไม่จำเป็นต้องนึกถึงเรื่องราวเยอะๆ อย่างจิตตั้ง ๘๙ หรือรูป ๒๘ หรือเจตสิก ๕๒ เอาที่กำลังปรากฏซึ่งไม่พ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น โดยนัยของพระสูตร ย่อลงมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างวันก่อนก็มีคนถามเรื่องชวนะ ว่าคืออะไร รู้ว่า จักขุวิญญาณเห็น รู้ว่ามีจิตเกิดสืบต่อทำกิจต่างๆ จนถึงชวนกิจ แล้วชวนะคืออะไร ถ้าโดยนัยของพระสูตร ก็ไม่ยาก เพราะเหตุว่าทรงแสดงโดยย่อที่จะให้เข้าใจได้ ชวนะก็คือกุศลหรืออกุศลที่เกิดหลังจากเห็น หลังจากได้ยิน

    เพราะฉะนั้น เราไม่นึกถึงปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิตเลย โดยนัยของพระสูตรคือ เมื่อเห็นแล้วเกิดความชอบ หรือไม่ชอบ หรือเป็นกุศล เมื่อได้ยินแล้ว ย่อลงมาเลยถึงชวนะ โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือกุศล

    เพราะฉะนั้น กุศลจิตหรืออกุศลจิตนั่นเองที่เกิดต่อจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่คือสภาพธรรมที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปจำชื่อ จำเรื่องราวของจิต ๘๙ หรือของรูป ๒๘ หรืออะไร แต่ว่าสามารถรู้ว่า ปรมัตถธรรมคือขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะที่นอนหลับก็เป็นปรมัตถธรรม แต่เมื่อไม่ปรากฏให้รู้ ก็รู้ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จะรู้ความจริงของสภาพธรรมก็ต่อเมื่อตื่นขึ้น คือมีสภาพปรากฏทางตา นั่นคือปรมัตถธรรม เสียงที่กำลังปรากฏทางหูและได้ยินก็เป็นปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่ามีแต่ปรมัตถธรรม แต่ไม่รู้ความเป็นปรมัตถธรรม แสดงให้เห็นว่า อวิชชาปิดบังมาก สะสมมามาก พอเท่าไรก็ไม่รู้ เพราะเหตุว่าที่เราคิดว่า เราได้ฟังมามากๆ พอจะรู้ได้ เทียบกับ ๔ อสงไขยแสนโกฏิกัปป์ หรือเท่าไรก็ตาม ผ่านมาแล้วด้วยความไม่รู้ ก็ต้องน้อยกว่ามาก

    เพราะฉะนั้น ก็ให้เราฟังด้วยความเข้าใจว่า สิ่งที่มีจริง จริงขณะนี้ แต่อวิชชายังไม่รู้ เพราะเหตุว่าปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น ก็อบรมเจริญปัญญา ไม่ต้องไปคิดเรื่องปฏิบัติอย่างใครเขาปฏิบัติกัน แต่อบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจ ฟังให้เข้าใจจริงๆ อย่างเห็นเป็นสภาพรู้แน่นอน ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ลักษณะอาการเห็นมีจริงๆ และไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา

    นี่คือการค่อยๆ รู้ความจริงของเห็น และระลึกทางหู ค่อยๆ รู้ความจริงของเสียงกับได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยรู้ว่า ไม่มีตัวเราที่จะทำ แล้วบังคับอะไรก็ไม่ได้ จะไปเที่ยวถามใครว่า เมื่อไรสติปัญญาจะเกิดมากๆ ก็ไม่ถูก เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเราเองย่อมรู้ว่า ความเข้าใจธรรมเป็นเบื้องต้น ก็รู้ว่า ธรรมคือเดี๋ยวนี้ที่เห็น ถ้ายังไม่เข้าใจก็คือความจริงที่ยังไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ทำอย่างไรจะเข้าใจ และทำอย่างไรจะหมดกิเลสเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่นะคะ แต่สิ่งที่มี ฟังแล้วว่าเป็นสภาพรู้ ค่อยๆ รู้จริงๆ ว่า ลักษณะรู้ก็คือธรรมดาๆ อย่างนี้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้


    หมายเลข 2259
    10 พ.ย. 2565