ทิ้งกายอันเน่านี้เสีย พึงเข้าไปยังมหานครคือ นิพพาน


    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ครั้นท่านสุเมธบัณฑิตคิดดังกล่าวมานี้แล้ว จึงคิดยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างนี้ว่า บุรุษผู้ชอบแต่งตัวสวยๆ ทิ้งซากศพที่คล้องคอเสีย ก็พึงเป็นสุขไป แม้ฉันใด แม้เราก็ทิ้งกายอันเน่านี้เสีย ไม่อาลัย พึงเข้าไปยังมหานครคือ "นิพพาน" ก็ฉันนั้น อนึ่ง บุรุษสตรีถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงที่พื้นดินอันเปื้อนอุจจาระปัสสาวะแล้ว ก็หาเอาใส่ชายพกหรือเอาชายผ้าห่ออุจจาระปัสสาวะนั้นพาไปไม่ ที่แท้ก็พากันเกลียด ไม่อยากแม้แต่จะดู ไม่อาลัย ทิ้งไปเลยฉันใด แม้เราก็ไม่อาลัยกายอันเน่านี้ ควรที่จะละทิ้งเข้าไปยังอมตนครคือ "นิพพาน" ก็ฉันนั้น อนึ่ง ธรรมดานายเรือทั้งหลาย ก็ละทิ้งเรือชำรุดอันน้ำรั่วเข้า ไม่เยื่อใยไปเลย ฉันใด แม้เราก็ละทิ้งกายที่ของโสโครกไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙ แผลนี้ ไม่เยื่อใย จักเข้าไปยังมหานครคือ"นิพพาน" ก็ฉันนั้น

    อนึ่ง บุรุษบางคนพกพารัตนะมากอย่าง มีแก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์ เป็นต้น เดินทางไปกับหมู่โจร จำต้องละทิ้งโจรเหล่านั้น เพราะกลัวสูญเสียรัตนะ เลือกถือเอาแต่ทางที่เกษมปลอดภัย ฉันใด ความติดในกายอันเน่า นี้ก็เสมือนโจรปล้นรัตนะ ถ้าเราจักทำความอยากในกายนี้ รัตนะคืออริยมรรคและกุศลธรรมของเราก็จักสูญเสียไป เพราะฉะนั้น จึงควรที่เราจำต้องละทิ้งกรัชกายที่เสมือนมหาโจรนี้ แล้วเข้าไปยังมหานครคือนิพพาน ก็ฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า บุรุษเกลียดซากศพที่ผูกคออยู่ ปลดออกไปเสีย ก็มีสุข มีเสรี มีอิสสระ ฉันใด เราทิ้งกายอันเน่านี้ที่สะสมซากต่างๆ ไว้ไปเสีย ไม่อาลัย ไม่ต้องการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษสตรีทิ้งอุจจาระไว้ในที่ถ่ายอุจจาระ ไปเสียไม่อาลัย ไม่ต้องการ ฉันใด เราทอดทิ้งกายนี้ที่เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ เหมือนทิ้งที่ถ่ายอุจาระไป ก็ฉันนั้น

    เจ้าของเรือ ทิ้งเรือลำเก่าชำรุด น้ำรั่วไป ไม่เยื่อใย ไม่ต้องการฉันใด เราก็ทอดทิ้งกายนี้ ที่มี ๙ ช่อง เป็นที่ไหลออกของสิ่งโสโครกอยู่เป็นนิตย์ไป เหมือนเจ้าของเรือสละทิ้งเรือลำเก่า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษพกพาของมีค่าไปกับพวกโจร แลเห็นภัยจากการเสียหายของของมีค่า จึงละทิ้งโจรไป ฉันใด กายนี้ก็เปรียบเสมอด้วยมหาโจร เพราะกลัวการเสียหายของกุศล เราจึงต้องละทิ้งกายนี้ไป ก็ฉันนั้นเหมือนกัน


    หมายเลข 2147
    3 ก.ย. 2565