อดทนที่จะอบรมเจริญปัญญา เป็นหนทางที่ยาวนานและไกล


    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ไม่ว่าจะโดยนัยของพระอภิธรรม พระสูตร หรือแม้แต่พุทธวงศ์ เพื่อที่จะให้เห็นว่า แม้ในครั้งโน้น พระองค์ก็จะต้องทรงมีปัญญาที่จะแสวงหาหนทาง ฉันใด พุทธบริษัทซึ่งได้ฟังพระธรรม และพิจารณารู้ว่าโลภะเป็นสมุทัย ก็ควรที่จะเห็นความน่ารังเกียจของโลภะ ซึ่งเป็นสมุทัยโดยประการต่างๆ เพื่อจะได้แสวงหาทางที่จะดับ ชาติความเกิด เพียงระลึกว่า โลภะทุกขณะที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสมุทัย รู้เท่านี้ก็มีประโยชน์

    แล้วก็รู้อีกบ่อยๆ ไม่ว่าจะกำลังสนุกสนานรื่นเริง ดูหนัง ดูละคร ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ กำลังเพลิดเพลินขณะใดรู้ว่าเป็นสมุทัยในขณะนั้น ก็ยังมีประโยชน์ เพราะเห็นโทษ แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะว่าปัญญาของปุถุชนนั้นไม่ใช่ปัญญาของพระอริยบุคคล จึงไม่สามารถจะดับกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น ต่อเมื่อใดรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันก็ดับความเห็นผิดซึ่งถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ดับความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ก็ยังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าผู้ที่จะดับกิเลสได้นั้นต้องเป็นผู้ที่อดทน และมีปัญญารู้ว่าการดับกิเลสนั้น คือดับกิเลสในชีวิตประจำวัน ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และคิดนึก เพราะว่า วันหนึ่งๆ ที่จะไม่คิดนึกนั้นเป็น ไปไม่ได้ เห็นสิ่งใดก็คิดเรื่องสิ่งที่เห็น จากโทรทัศน์บ้าง จากหนังสือบ้าง จากที่ได้ยินได้ฟังบ้าง สิ่งที่ปรากฏทางตาเงียบไม่มีเสียงก็ยังไม่พอ ต้องฟังทางหูประกอบกับสิ่งที่ได้เห็นทางตา ให้รู้เรื่องนั้นๆ มากขึ้นไปอีก

    นี่ก็เห็นได้แล้วว่า กิเลสทั้งหลายกลุ้มรุมเหมือนโจรที่ล้อมไว้อย่างหนาแน่นเพียงไร อย่างนักประวัติศาสตร์ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด เห็นวัตถุโบราณต่างๆ เพียงเห็นเท่านั้น ก็ไม่สามารถรู้ถึงประวัติความเป็นมาของสิ่งนั้นได้ ต้องอาศัยการฟังเรื่องราวของสิ่งนั้นอีก เพราะฉะนั้น ทั้งที่เห็นทั้งทางตาและที่ได้ยินทางหูก็ประกอบกันเป็นเรื่องราว ซึ่งทำให้จิตใจหมกหมุ่นครุ่นคิดในแต่ละเรื่องด้วยโลภะซึ่งเป็นสมุทัย แล้วเมื่อไรจะดับได้ ถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงว่า "ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งๆ "

    จิตที่เห็นทางตาเพียงเห็นไม่ได้คิด แต่เมื่อเห็นแล้วจิตก็คิดต่อทางใจ ฉะนั้น ทุกครั้งที่คิดก็ให้ทราบว่าเป็นจิตขณะหนึ่งๆ เรื่องราวทั้งหลายที่ยาวมากเพราะจิตคิดเป็นเรื่องเป็นราว การวิพากษ์วิจารต่างๆ ก็เกิดจากจิตที่คิดเรื่องนั้นๆ ทีละคำ จิตผูกพันในเรื่องที่คิดจนไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตซึ่งเป็นสมุทัยด้วย

    เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้ ก็จะอดทนที่จะอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ และเจริญกุศลทุกประการเพื่อที่จะให้กิเลสเบาบางลง มิฉะนั้น ไม่มีหนทางเลยที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ เพราะเหตุว่าเป็นหนทางที่ยาวนานและไกลมาก เมื่อมีสติก็จะรู้สภาพของจิตละเอียดขึ้นว่าเต็มไปด้วยโลภะในวันหนึ่งๆ มากมายเพียงใด


    หมายเลข 2148
    3 ก.ย. 2565