วิบากสร้างมาในชาติที่แล้วและชาตินี้ใช่ไหม


    บง   วิบากคือผลของกรรมที่เราจะได้รับ  วิบากนี้เราสร้างมาทั้งชาตินี้และชาติที่แล้วใช่ไหมคะ

    ส.   ต้องเข้าใจว่า วิบากหมายถึงจิตประเภทหนึ่ง เพราะว่าจิตไม่ว่าจะอยู่ที่ภพไหน ภูมิไหน ตลอดชีวิตทุกภพทุกชาติ จะจำแนกออกเป็น ๔ ชาติ หรือภาษาบาลีใช้คำว่า ชา – ติ หมายถึงการเกิดของจิตต่างกันเป็น ๔ อย่าง คือ ประเภทหนึ่งเกิดขึ้นเป็นกุศล เป็นจิตที่ดีงาม เป็นเหตุที่ดี และอีกประเภทหนึ่งเป็นจิตที่เกิดเป็นอกุศล หมายความถึงเป็นจิตที่ไม่ดีงาม เป็นเหตุที่ไม่ดีงาม

    เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นเหตุมี ๒ ประเภท คือ กุศลจิต ๑ อกุศลจิต ๑ เมื่อเหตุมี ผลก็ต้องมี ผลคือจิตที่เกิดภายหลังเหตุ เมื่อเหตุได้กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นเป็นวิบากจิต คือ เป็นผลของเหตุ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จิตนั้นก็เป็นกุศลวิบากจิต ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จิตนั้นก็เป็นอกุศลวิบากจิต นี่ก็ ๓ ชาติแล้ว คือ ๑ กุศล ๒ อกุศล ๓ วิบาก และมีจิตอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิต ส่วนใหญ่แล้วเป็นจิตของพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าพระอรหันต์ไม่มีกุศลจิตและอกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุต่อไป เพราะถ้ายังมีเหตุอยู่ตราบใด ก็ต้องมีปฏิสนธิ การเกิดต่อไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น เมื่อพระอรหันต์ดับกิเลสแล้ว ไม่มีอกุศลจิตและกุศลจิต ยังคงเหลือแต่วิบาก คือ จิตที่เป็นเหตุจากอดีตที่ได้กระทำไว้แล้ว อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้ว ดับกุศลจิต อกุศลจิต ยังคงมีแต่วิบากจิตกับกิริยาจิต แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีจิตครบ ๔ ชาติ คือมีทั้งกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิตมี ๒ ขณะ ๒ ดวง ๒ ประเภท

    เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องละเอียดขึ้นที่จะรู้ว่า ขณะไหนเป็นเหตุ ขณะไหนเป็นผล เช่น ขณะแรกที่จิตเกิดขึ้นในภพนี้ จะเป็นจิตที่เป็นเหตุไม่ได้ ขณะนั้นไม่ได้ทำทาน ไม่ได้รักษาศีล ไม่ได้เจริญกุศล ไม่ได้ทำอกุศลใดๆเลย แต่เพราะกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยให้หลังจากจุติจิตดับก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต

    นี่แสดงให้เห็นว่า เราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกจะเป็นคนนั้นคนนี้ก็ไม่ได้ แต่กรรมพร้อมที่จะให้เราเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ตั้งแต่เกิดจนตาย แม้แต่ขณะจุติซึ่งเป็นขณะสุดท้ายของชาตินี้ก็คือวิบากจิต ต้องเป็นผลของกรรมที่ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ซึ่งเราทุกคนจะไม่ทราบว่า เราจะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้เมื่อไร เพราะเหตุว่าเราไม่รู้กรรมที่ทำให้เกิดเป็นคนนี้ และไม่รู้ด้วยว่า กรรมนี้จะทำให้เราเป็นบุคคลนี้นานเท่าไร อาจจะเป็นแค่เย็นนี้ก็ได้ หรืออาจจะเป็นพรุ่งนี้ก็ได้ หรืออาจจะเป็นกี่ ๑๐ ปี ๒๐ ปีก็ได้ เพราะเรื่องของกรรมที่ได้ทำแล้ว ไม่มีใครสามารถรู้ได้ เรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก แต่เราเข้าใจได้ว่า ตอนเกิด จิตขณะแรกที่เกิดเป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมเดียว หลังจากนั้นแล้วกรรมอื่นให้ผลหลังจากเกิด เรียกว่าให้ผลในปวัตติกาล

    เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตของเราจะแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือ ปฏิสนธิกาล ได้แก่ขณะเกิดขึ้น ต่อจากนั้นไปจนถึงจุติ เป็นปวัตติกาล เพราะฉะนั้น กรรมอื่นมีโอกาสจะให้ผลหลังจากที่เราเกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น ผลที่เราจะได้รับหลังจากปฏิสนธิแล้ว ก็คือเห็น เป็นผลของกรรม เป็นวิบาก ได้ยิน ก็เป็นผลของกรรม ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็เป็นผลของกรรม เพราะเหตุว่ากรรมทำให้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เพื่อเป็นทางให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น

    นี่เป็นความต่างกันของสัตวโลก ซึ่งต่างกับรูปที่ไม่มีจิต รูปที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรม แล้วไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กายที่จะรับผลของกรรมเลย แต่เพราะเหตุว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ แล้วก็มีเหตุ เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตของเราก็แบ่งออกเป็นวิบากจิต ซึ่งเป็นผลขณะที่ปฏิสนธิ และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว เราก็ไม่ได้จากโลกนี้ไปทันที ยังมีจิตที่ทำกิจภวังค์เกิดดับสืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนี้ไว้ เพื่อที่จะให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส รูปเป็นอารมณ์ของจิตเห็น เสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน แล้วทำให้เกิดรัก เกิดชัง ชอบ ไม่ชอบ แล้วเห็นอีก ได้ยินอีก ชวนจิตทั้งหลายเกิดขึ้นยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ปรากฏ เพื่อเดินทางไปสู่จิตขณะสุดท้าย คือ จุติจิต

    นี่แสดงให้เห็นว่า เรากำลังมีจิตที่กำลังทำกิจทำการงาน ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ใจก็คิดนึกไป แต่เพื่ออะไร เพื่อเดินทางไปสู่ขณะสุดท้าย คือ จุติ

    นี่แสดงให้เห็นว่า จะต้องแบ่งผลของกรรม คือ ขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่หลังจากเห็นแล้ว จิตใครเป็นกุศล จิตใครเป็นอกุศล นี่คือเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า

    บง   ตรงนี้ที่บอกว่า หลังจากเห็น หลังจากได้ยินแล้ว ใครเป็นกุศล หรืออกุศล อันนี้ก็ต้องเป็นกรรมอีกหรือเปล่า ที่เกิดต่อเนื่องต่อไปแล้ว

    ส.   ไม่ค่ะ อันนี้เป็นผลของการสะสมของกุศลจิตและอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ถ้าจิตของใครเป็นอกุศลมากๆ เราจะเห็นว่า คำพูดของเขา การกระทำของเขามาจากจิตที่เป็นอกุศลที่สะสมมา

    เพราะฉะนั้น กายของแต่ละคนก็ต่างกัน วาจาของแต่ละคนก็ต่างกัน ตามการสะสม แม้แต่คำพูดที่ไม่ใช่ทุจริต ไม่ใช่คำหยาบ ไม่ใช่คำเท็จ ไม่ใช่คำส่อเสียด ไม่ใช่คำเพ้อเจ้อ แต่คำพูดนั้นเกิดจากกุศลจิตหรืออกุศลจิต อย่างตัวอย่างที่ยกที่โรงพยาบาลปากเกร็ด ถ้ามีคนถามว่า กระเป๋าอยู่ที่ไหน ก็มีคนตอบว่า ก็อยู่นั่นไงล่ะ กับคนที่ตอบว่า อยู่บนโต๊ะ ต่างกันไหมคะ


    หมายเลข 2009
    2 ก.ย. 2558