กิจวัตรประจำวัน-สติสัมปชัญญะ-ปรมัตถธรรม


    ถาม   ในกรณีที่เราพูดถึงเรื่องสมาธิ การขับรถยนต์ การทำงานประจำวัน การพูดจับไมโครโฟน มีสติสัมปชัญญะ เห็นรูปไมโครโฟน เป็นเสียงต่างๆ ก็ยังไม่ใช่สติปัฏฐานใช่หรือไม่ครับ

    ส.   สติเกิดแทรกคั่นได้ หมายความมีสภาพธรรมปรากฏ แล้วแทนที่จะเป็นโมหะ แทนที่จะเป็นโลภะ สติเกิดระลึกตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ทุกคนตอบได้ แต่ไม่รู้ในความไม่ใช่ตัวตน อย่างแข็งก็เป็นปรมัตถธรรม ทุกคนก็ตอบได้ แต่ไม่รู้ว่าแข็งนั้นไม่ใช่ตัวตน เวลาเห็น ทุกคนก็บอกได้ว่า กำลังเห็น แต่ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นปรมัตถธรรมตลอด ไม่มีเลยที่จะไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ถ้าไม่ฟังพระธรรมแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่มีการรู้จริงๆว่า เป็นปรมัตถธรรมที่กำลังเกิดดับ ก็เป็นแต่ฟังเรื่องของปรมัตถธรรมมาเรื่อยๆ แต่ตัวจริงเวลานี้ปรมัตถธรรมกำลังทำกิจการงานแต่ละอย่าง อย่างจิตเห็นก็ทำกิจเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เอง

    นี่คือประโยชน์ของการพูดเรื่องของสติปัฏฐาน ปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่ามีธรรมปรากฏ แล้วขณะที่ฟังนี้เอง ถ้าเข้าใจถูก สติก็ระลึกทันทีเป็นปกติ แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือความสงสัย เพราะว่าสติเกิดน้อยมาก สั้นมาก นิดเดียวแล้วดับ จริงๆต้องเป็นอย่างนั้น จะมีสติเกิดสืบต่อกันตลอดเวลาสำหรับผู้ที่อบรมเจริญมาก แต่แม้กระนั้นก็ตลอดเวลาไม่ได้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แม้แต่พระอรหันต์ ขณะที่เห็น ขณะนั้นก็ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า แม้พระอรหันต์เองท่านก็มีมหากิริยาญาณวิปยุตต์ ซึ่งไม่มีปัญญาเกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น แม้จะเป็นจิตของพระอรหันต์ พระอรหันต์มีทั้งมหากิริยาจิตซึ่งมีปัญญาเกิดร่วมด้วย และไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม สามารถจะระลึกขณะไหน เมื่อไรก็ได้ เพื่อความรู้จะได้เพิ่มขึ้นในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ ให้ทราบว่าเป็นปรมัตถ์ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ทางจะรู้ก็คือสติระลึก แล้วค่อยๆเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อยแต่ละทาง เป็นปกติ สั้นแสนสั้นก็ไม่เป็นไร ก็ต้องเป็นสั้นแสนสั้น แต่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสัมมาสติที่ระลึก ไม่เพียงนึก หรือไม่ใช่เพียงฟังเรื่องปรมัตถธรรม แต่รู้ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็น ก็กลับมาที่สภาพที่กำลังเห็นขณะนี้ ซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เสียงมีจริง ปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพที่กำลังรู้เสียง คือกำลังได้ยินเสียง นี่คือขณะที่กำลังได้ยินนี่เอง สติสามารถระลึกในอาการที่รู้เสียง ขณะนี้ที่เสียงปรากฏเพราะมีสภาพที่ได้ยิน คือรู้เสียงที่ปรากฏ มิฉะนั้นเสียงก็ปรากฏไม่ได้ ก็เป็นชีวิตประจำวัน แต่ว่าเกิดดับเร็วมาก จนกระทั่งถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่มีทางรู้ ก็อยู่ในตำราหมด แต่ทีนี้การศึกษามี ๓ ระดับ ขั้นปริยัติ ฟังเรื่องราวของปรมัตถธรรม ของนามธรรมและรูปธรรม ปฏิบัติ คือ สติปัฏฐานเกิดขึ้นกระทำกิจระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม พร้อมทั้งค่อยๆเข้าใจขึ้น เป็นการศึกษา ที่เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา แล้วในที่สุดความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏก็เพิ่มขึ้นจนสามารถประจักษ์ลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตนจริงๆได้ แต่ไม่ใช่ชีวิตที่ผิดปกติ ต้องเป็นขณะเดี๋ยวนี้ เป็นของจริงธรรมดาๆ


    หมายเลข 2005
    2 ก.ย. 2558