การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ 6/6
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งก่อนนั้นสนใจเจริญวิปัสสนา ได้พยายามพากเพียรปฏิบัติโดยวิธีต่างๆ เท่าที่ได้ยินได้ฟัง แต่เมื่อท่านเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานว่า เป็นปกติ เป็นธรรมดา ไม่ต้องไปทำให้ผิดปกติ ไม่ต้องไปทำให้ผิดธรรมดาเลย เป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏเป็นปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อท่านมีความตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐานอย่างนี้ ท่านก็ถูกชักชวนให้ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด ซึ่งเป็นสถานที่ที่จำกัดในข้อปฏิบัติ จำกัดในการรู้ลักษณะของนามและรูปว่า ให้รู้เฉพาะบางรูปบางนาม หรือว่าบางอารมณ์เท่านั้น ซึ่งท่านผู้นั้นก็ได้กล่าวกับผู้ที่ชักชวนท่านว่า ท่านได้เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะมากจะน้อยก็เป็นเรื่องของสติ ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ท่านที่ชักชวนก็กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้นจะไม่ได้ผล เพราะเหตุว่าช้า ไม่เหมือนกับการไปสู่สถานที่ที่จำกัด ซึ่งมีข้อปฏิบัติที่ทำให้สามารถที่จะได้รับผลอย่างรวดเร็ว ท่านก็กล่าวตอบว่า ถ้าไปสู่สถานที่ที่จำกัด และจำกัดความรู้เฉพาะบางนามบางรูป ท่านก็ไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น ผลที่ได้ จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ หรือญาณอื่นๆ ก็ตาม ก็เป็นการไม่รู้อะไร แต่มุ่งหวังในผลอย่างรวดเร็ว โดยการรู้เฉพาะเพียงบางนามบางรูป ก็ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างทั่วถึง
สำหรับตัวท่านเอง ท่านเจริญสติปัฏฐานเพื่อความรู้ในชีวิตของท่านจริงๆ สภาพนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดกับท่านเป็นปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ ท่านเจริญสติเพื่อรู้ว่า ขณะใดที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น มีความชอบใจ เพราะอาศัยทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะใดที่เกิดมัจฉริยะ ความตระหนี่ ความอิสสา หรือสภาพของมานะ ความสำคัญตน ท่านก็เจริญสติเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริง เพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พอจะวินิจฉัย พิจารณา ตัดสินได้ว่า ข้อปฏิบัติใดจะทำให้เกิดญาณ ความรู้ที่ชัดเจนในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดกับตัวท่านเป็นปกติ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
และสำหรับญาณต่างๆ จะมีอะไรเป็นเครื่องวัด เครื่องเทียบว่าเป็นวิปัสสนาญาณ หรือว่าไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ซึ่งวิปัสสนาญาณนั้น เป็นความรู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ ไม่มีลักษณะจริงๆ ของอารมณ์ปรากฏให้รู้ชัด จะกล่าวว่า มีปัญญารู้ชัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลานี้อารมณ์ปรากฏ ถ้าปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่ท่านต้องการวิปัสสนาญาณกันมาก จนข้ามความรู้ในลักษณะของอารมณ์ ซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน
ถ . อานาปานสตินี้แยกออกเป็น ๒ นัย นัยหนึ่งเป็นทางสติปัฏฐาน อีกนัยหนึ่งเป็นทางสมถะ สับสนว่าจะอย่างไรกัน คือ จะเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าจะเจริญสมถะให้เป็นสมาธิเสียก่อน แล้วจึงเจริญสติปัฏฐานต่อไป ช่วยกรุณาชี้แจง
สุ . สำหรับอานาปานสติ หรือ อานาปานสติสมาธิ หรือ อานาปานบรรพ
ใน มหาสติปัฏฐานสูตร กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพแรก คือ อานาปานบรรพ หมายความถึง บรรพ หรือหมวด ในการเจริญสติเพื่อให้รู้สภาพของกาย โดยระลึกรู้ที่ลมหายใจ ใช้คำว่า อานาปานบรรพ คือ หมวดของ "กองลมหายใจ" แต่ในการระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงรูปธรรม เป็นส่วนหนึ่งของกาย คือ รูปกาย ต้องอาศัยสติ เวลานี้ทุกคนมีนาม มีรูป ลมหายใจก็มี แต่ก็ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจว่า ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนั้น เพราะมีสภาพอย่างไร เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นแต่เพียงลักษณะที่อ่อน หรือเบา ร้อน หรือเย็น ที่กระทบช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปาก ปรากฏเพียงชั่วครู่นิดเดียวแล้วก็หมดไป
แต่สำหรับอานาปานสติสมาธิ เป็นเรื่องของสมถภาวนา ซึ่งการที่จะให้จิตสงบจากโลภะ โทสะ ก็จะต้องอาศัยการจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด ในครั้งพุทธกาลได้มีการเจริญอานาปานสติสมาธิ การที่จะให้จดจ้องอยู่ที่ลมหายใจให้เป็นสมาธิที่มั่นคงขึ้น ต้องอาศัยสติระลึกที่ลมหายใจ ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการให้จิตสงบขึ้นจนกระทั่งเกิดเป็นนิมิต มีจิตที่เป็นสมาธิมั่นคงยิ่งขึ้น จากอุปจารสมาธิถึงอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิตขั้นต่างๆ นั่นเป็นอานาปานสติสมาธิ เป็นเรื่องของสมถภาวนา
สำหรับอานาปานสตินั้น เป็นการเจริญ สมถภาวนาในลักษณะหนึ่ง และวิปัสสนาภาวนาก็ในลักษณะหนึ่ง
ถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนาแล้ว ต้องการให้จิตสงบมั่นคงถึงขั้นฌานจิต แล้วแต่ว่าท่านผู้ใดจะถึงหรือว่าไม่ถึง
แต่ถ้าเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อละความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูป เพื่อไม่ยึดถือนามและรูปที่ปรากฏ ไม่หลงเข้าใจผิดยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน นี่เป็นจุดประสงค์ของการเจริญวิปัสสนา โดยการที่สติระลึกรู้สภาวะลักษณะที่กำลังปรากฏ เพราะเวลาที่ลมหายใจปรากฏ ก็มีลักษณะที่เบา หรืออ่อน หรือแรง หรือร้อน หรือเย็น หรือตึง หรือไหว
เพราะฉะนั้น การเจริญอานาปานบรรพ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นไม่ใช่บังคับ หรือไม่ใช่ต้องไปเจริญอานาปานสติสมาธิให้ถึงฌานจิตเสียก่อน จึงจะมีสติระลึกรู้ลมที่ปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงรูปธรรม
ถ้าท่านจะเจริญสติปัฏฐาน เจริญวิปัสสนาภาวนา ไม่ใช่สมถภาวนา สติของท่านผู้หนึ่งผู้ใดมักจะระลึกที่ใด คนอื่นบอกได้ไหม ก็ไม่ได้ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล บางท่านอาจจะระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กาย บางท่านอาจจะระลึกรู้ลักษณะของนามที่กำลังเห็น ระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจบ้างหรือเปล่า เย็นกำลังเกิดปรากฏกระทบส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เป็นลมที่พัดมาจากทิศหนึ่งทิศใดก็ได้ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของลมเย็นที่ปรากฏที่กาย และลมหายใจของท่านก็เย็นร้อนเหมือนกัน มีท่านผู้ใดระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจที่เย็นหรือที่ร้อน ที่ตึงหรือที่ไหวในขณะนี้บ้าง
สำหรับท่านที่เคยอบรมอานาปานสติสมาธิมาก่อน โดยให้จิตตั้งมั่นจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ ท่านเหล่านั้นเคยอบรมมาแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ลมก็ย่อมปรากฏกับท่านที่เคยอบรมการเจริญ อานาปานสติสมาธิแล้ว แม้ว่าในขณะนั้นท่านไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้จิตสงบเป็นสมาธิที่ลมหายใจ แต่ว่าเมื่อลมหายใจปรากฏ สติก็ระลึก
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องห้าม ไม่ใช่เรื่องบังคับ ไม่ใช่เรื่องกฎเกณฑ์ ไม่ใช่เรื่องที่ว่า ท่านผู้ใดจะเจริญอานาปานบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านจะต้องไปตั้งต้นด้วยการเจริญอานาปานสติสมาธิให้เป็นฌานจิตแล้วจึงจะเจริญอานาปานบรรพในมหาสติปัฏฐาน
ถ้าปัจจุบันชาติ ท่านไม่เคยเจริญอานาปานสติสมาธิ แต่ในอดีตชาติท่านเคยอบรมการเจริญอานาปานสติสมาธิ เวลาที่ท่านฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ถ้าลมหายใจปรากฏ สติสามารถที่จะระลึกรู้ และประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของลมหายใจได้
เพราะฉะนั้น เรื่องการเจริญสติปัฏฐานทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องกฎเกณฑ์ ผลและอานิสงส์อย่างสูงในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เพียงให้จิตสงบเป็นสมาธิ แต่เพื่อปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้บุคคลในครั้งพุทธกาลก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เคยเจริญฌาน เจริญสมถภาวนา หรือแม้อานาปานสติสมาธิ แต่นั่นไม่ใช่อานิสงส์สูงสุดในพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เคยอบรมเจริญอานาปานสติสมาธิ ก็ไม่ใช่ควรจะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น เวลาที่สติของผู้นั้นเกิดระลึกที่ลมหายใจ ที่จะมีอานิสงส์มาก มีผลมากนั้น เพราะรู้ว่าเป็นกาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ถ . ทำไมประตูของโลกจึงปิดหมด หน้าต่างทำไมปิดหมด
สุ . ท่านผู้ฟังถามว่า เวลานั่ง แล้วทำไมประตูของโลกปิดหมด ขณะนี้เห็นอะไรไหม ถ้าเห็น ประตูตาก็ไม่ได้ปิด ถ้าเป็นปัญญาแล้ว ต้องรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
ถ . ไปทางสมาธิหมายความว่าอะไร หูก็อื้อ ไม่ได้ยินเลย
สุ . นั่นไม่ใช่สภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 165
การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ท่านผู้ฟังจะรู้จักสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ มีนามธรรมและรูปธรรม นามธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธาน คือ จิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ โดยประเภทที่เป็นการเกิดของจิตที่เรียกว่าโดยชาติแล้ว มี ๔ ชาติ คือ เป็นอกุศล ๑ เป็นกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑
อกุศลจิต มีเหตุที่ไม่ดี ทำให้เกิดผลที่ไม่ดี เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบากจิต
กุศลจิต เป็นจิตที่ดีงาม เป็นเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลคือ กุศลวิบากจิต
สำหรับจิตประเภทวิบากนั้น ไม่ใช่เหตุ แต่เกิดขึ้นเพราะอกุศลจิตเป็นปัจจัยและกุศลจิตเป็นปัจจัย อกุศลจิตเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิด และกุศลจิตก็เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากจิตเกิด อกุศลจิตจะไปเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากจิตเกิดไม่ได้ และกุศลจิตจะไปเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดไม่ได้ เหตุกับผลต้องตรงกัน
และมีจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต จิตประเภทนั้นเป็นกิริยาจิต ส่วนมากเป็นจิตของพระอรหันต์ แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกิริยาจิต ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต กับมโนทวาราวัชชนจิต
ใน จิตตานุปัสสนา บรรพแรก คือ สราคจิต ได้แก่ จิตมีราคะ ซึ่งได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ดวง
สำหรับบรรพต่อไปยิ่งเป็นเครื่องชี้ให้ท่านเห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมวดต่อไป ได้แก่ วีตราคจิต คือ จิตปราศจากราคะ
ใน ปปัญจสูทนี มีคำอธิบายว่า
สำหรับจิตปราศจากราคะ คือ วีตราคจิตนั้น ได้แก่ จิตอันเป็นกุศลและ อัพยากตะ อันเป็นโลกียะ
ที่ทรงจำแนกไว้ในพระไตรปิฎกโดยละเอียดเพื่อที่ว่า เมื่อสติของท่านผู้ใดระลึก ก็จะได้รู้ชัดในสภาพของจิตชนิดหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน แล้วจะได้ละคลายไม่ยึดถือว่า สภาพจิตนั้นๆ เป็นตัวตน ธรรมดาของจิตนั้นเป็นอกุศลมากกว่ากุศล ถ้าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ก็ย่อมจะเป็นโลมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น ที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่ายังธรรมอันลามกให้สะเทือน ให้หวั่นไหว ให้พินาศ
เพราะฉะนั้น อย่ารังเกียจกุศลจิตทุกประการ หรืออย่าคิดว่าท่านจะเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของกุศลจิตไม่ได้ แม้โลภมูลจิตซึ่งเป็นอกุศลจิต สติก็ยังระลึกรู้ได้ แล้วทำไมฝ่ายกุศลธรรม คือ กุศลจิตที่เกิดขึ้น สติจะระลึกรู้ไม่ได้ว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง
การรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้นจะต้องขัดเกลาจิตทุกประการ ถ้าท่านตรวจสอบดูในพระไตรปิฎก สำหรับผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนแล้วนั้น ขัดเกลาทั้งพระวินัย และพระธรรมที่ทรงแสดง จึงควรสะสมหรือว่าให้กุศลจิตเกิด เพราะว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นยังธรรมอันลามกให้สะเทือน ให้หวั่นไหว ให้พินาศได้
นอกจากนั้น ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า บั่นรอน คือ ตัดสภาพที่นอนอยู่ ด้วยอาการที่น่าเกียจ คือ อกุศลธรรม ให้อกุศลธรรมนั้นเบาบางลง
นอกจากนั้น กุศลธรรมนั้น เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ มีสุขเป็นวิบาก ไม่มีโรค เป็นความฉลาดด้วย
โดยมากสิ่งจะที่กั้นท่านไว้ คือ ความไม่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน คิดว่าขณะที่ให้ทานเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ คิดว่าขณะที่ฟังธรรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ คิดว่าขณะที่แสดงธรรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ คิดว่าขณะที่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ แต่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ไม่ว่ากุศลจิตจะเป็นไปในขณะใด สติก็ย่อมระลึกรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคลได้
สำหรับประโยชน์ของกุศลธรรม ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาตอัปปมาทสูตร ซึ่งมีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีประมาณเท่าใด ไม่มีเท้าก็ดี สองเท้าก็ดี สี่เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ดี พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดของสัตว์เหล่านั้น ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดของกุศลธรรมเหล่านั้น
แสดงให้เห็นว่า เวลาที่กุศลจิตจะเกิดขึ้นแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนาก็ตาม จะต้องเพราะมีความไม่ประมาท ประชุมลงในความไม่ประมาท มีความไม่ประมาทเป็นมูล กายทุจริตย่อมเกิดขึ้นได้ในขณะที่ประมาท สติไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมนั้นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควร วจีทุจริตเกิดได้ในขณะที่ประมาท สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะว่า วาจาเช่นนั้นควรหรือไม่ควร
เพราะฉะนั้น จะเห็นคุณของสติว่า ถ้าปราศจากสติซึ่งเป็นธรรมที่ระลึกแล้วกุศลจิตย่อมเกิดไม่ได้ กำลังให้ทานที่ไหนก็ได้ กำลังถวายอาหารบิณฑบาตที่ไหนก็ได้ เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ได้ เพราะว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ขณะที่กำลังจะกล่าววจีทุจริต แต่วิรัติเพราะเห็นว่า ไม่เกื้อกูล ไม่เป็นประโยชน์ สภาพธรรมที่วิรัติในขณะนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง จิตในขณะนั้นเป็นกุศลจิต เวลาที่สติระลึกรู้ แม้ในขณะนั้นก็รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่สภาพของนามธรรม
อัฏฐสาลินี ซึ่งเป็นอรรถกถา ธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กล่าวถึงลักษณะของ สติ ว่า สตินั้น มีการระลึกได้ เป็นลักษณะ
ตรงกับสภาพธรรมที่ท่านเจริญหรือเปล่า ระลึกขณะใด รู้ลักษณะสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏ อีกพยัญชนะหนึ่ง มีข้อความว่า
มีการเข้าไปช่วยประคอง เป็นลักษณะ
มีการไม่หลงลืม เป็นกิจ คือ เป็นรสะ
มีการรักษาอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ คือ เป็นปัจจุปัฏฐาน
เช่น ขณะที่กำลังรู้สึกเย็นตรงส่วนหนึ่งส่วนใด ปกติธรรมดา แล้วสติระลึกรู้สภาพที่เย็นส่วนนั้น ในขณะนั้นเป็นกิจของสติที่ว่า มีการรักษาอารมณ์ที่กำลังปรากฏให้ปรากฏโดยสภาพความเป็นอารมณ์นั้นจริงๆ
มีความจดจ่อต่ออารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน
มีสัญญาอันมั่นคง เป็นปทัฏฐาน
สัญญา คือ ความจำ ถ้าท่านไม่เคยฟังเรื่องของสัมมาสติเลย สัมมาสติก็เกิดไม่ได้ แต่ถ้าเคยฟังเรื่องของสัมมาสติ และมีสัญญาความจำสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มีการพิจารณา และไม่ลืมสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ อารมณ์อะไรก็ได้ ถ้าท่านมีสัญญาความจำอันมั่นคงในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้พิจารณาแล้ว ก็เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้สติระลึกได้
อัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ ได้แสดงปทัฏฐาน เหตุใกล้ให้เกิดของสติอีกนัยหนึ่ง คือ
มีสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน
นอกจากนั้นยังมีข้อความว่า
พึงเห็นว่า เป็นเช่นเดียวกับเสาเขื่อน เพราะตั้งมั่นในอารมณ์ และพึงเห็นว่า เป็นเสมือนนายประตู เพราะรักษาจักขุทวาร เป็นต้น
สติเมื่อเกิดขึ้น ย่อมให้ใคร่ครวญคติธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และมิได้เป็นประโยชน์เกื้อกูลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์เกื้อกูล ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ดังนี้
บรรเทาธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ประคองไว้แต่ธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล สติมีการประคอง คือ ประคองให้อยู่ในกุศลธรรมเป็นลักษณะอย่างนี้
สติย่อมให้กำหนด หรือย่อมให้ระลึกถึงกุศลธรรมโดยชอบ เป็นอินทรีย์ เพราะครอบงำความเป็นผู้หลงลืมสติเสียได้
อกุศลจิตเกิด ผู้ที่เจริญสติก็ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลจิต แต่ไม่ใช่ไปห้าม หรือไปสั่ง หรือไปบอกให้ตั้งต้นอย่างนั้น ตั้งต้นอย่างนี้ แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใดของรูปใด
ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง นามธรรมชนิดนี้เกิดบ่อยไหม ใครทราบ ถ้าไม่ได้เจริญสติจะทราบไหม วันหนึ่งๆ นามธรรมประเภทไหนเกิดมากกว่ากัน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะไหนเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ถ้าสภาวะลักษณะของจิตในขณะนั้นไม่ปรากฏ
สภาวะลักษณะที่ดีงามขณะที่ให้ทาน จะถวายอาหารบิณฑบาต หรือให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ผู้ที่เจริญสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ว่าขณะที่เจริญสติปัฏฐานแล้วให้ทานไม่ได้ แต่ไม่ว่าชีวิตปกติประจำวันของท่านจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังเป็นจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 166