การเจริญปัญญาเพื่อรู้ชัด 2/2


    ขออ่านจดหมายที่เป็นคำถามจากท่านผู้ฟัง จากสำนักสอนพระอภิธรรม วัดป่าธรรมโสภณ จังหวัดลพบุรี เพื่อความแจ่มแจ้งของท่านผู้ฟัง เพราะเหตุว่าเป็นตอนที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ ข้อความบางตอนมีว่า

    เรื่องการเจริญสมถะ แล้วยกขึ้นพิจารณาเป็นวิปัสสนา ตามปริยัติธรรมสอนว่า ผู้ที่เจริญสมถะแล้วพิจารณาองค์ฌานนั้นๆ โดยความเป็นรูปนาม ดิฉันสงสัยว่า มิเป็นการพิจารณาธัมมารมณ์ที่เกิดทางมโนทวารทางเดียวเท่านั้น มิได้พิจารณาอารมณ์ทางทวาร ๕ ด้วย จะถือว่าเป็นการรู้รอบ รู้ทั่วทุกทวารแล้วได้ไหม ตามปริยัติสอนว่า ผู้ที่จะได้มรรคผลครั้งแรก นอกจากพุทธะทั้ง ๒ แล้ว (คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑) ต้องได้รับฟังคำแนะนำสั่งสอนเสียก่อน แปลว่า ต้องมีหูไว้ฟัง เมื่อมีหู ก็ต้องมีรูปขันธ์ เมื่อมีรูปขันธ์ อิริยาบถใหญ่ ๔ ก็ต้องมีเป็นปกติตลอดวัน ไม่อิริยาบถใด ก็อิริยาบถหนึ่ง จึงควรเจริญสติ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะมาทางทวารใด ในขณะที่อยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ เพราะกิเลสที่จะละ คือ กิเลสที่เกิดตามทวารทั้ง ๖ นั่นเอง หาได้เกิดที่อิริยาบถไม่ คือ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ทวารทั้ง ๖ ก็รับอารมณ์ได้ทั้งนั้น ไม่ต้องเลือกอิริยาบถนั้นอิริยาบถนี้

    ดิฉันเข้าใจเช่นนี้ จะถูกผิดอย่างไร อาจารย์โปรดแก้ไขด้วย

    สุ. นี่เป็นข้อสงสัยของท่านผู้ฟังที่ได้ฟังว่า ผู้ที่เจริญสมถะแล้วพิจารณาองค์ฌานโดยความเป็นนามรูป สงสัยว่า มิเป็นการพิจารณาธัมมารมณ์ที่เกิดทางมโนทวารทางเดียวเท่านั้น มิได้พิจารณาอารมณ์ทางทวาร ๕ ด้วย จะถือว่าเป็นการรู้รอบ รู้ทั่วทุกทวารแล้วได้ไหม

    ไม่ได้ แม้ว่าผู้ใดจะเคยเจริญสมถภาวนามาแล้วก็ตาม แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติแล้ว ทางตากำลังเห็น ไม่เจริญสติได้ไหม ทางหูกำลังได้ยิน ไม่เจริญสติได้ไหม ทางจมูกกลิ่นกำลังปรากฏ ไม่เจริญสติได้ไหม กำลังรับประทานอาหาร รสปรากฏ ไม่เจริญสติได้ไหม กำลังเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหวปรากฏ ไม่เจริญสติได้ไหม ถ้าเป็นอย่างนั้น เป็นผู้หลงลืมสติ ไม่ใช่ผู้เจริญสติแน่นอน

    เพราะฉะนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้นามรูปทางมโนทวาร เป็นธัมมารมณ์เท่านั้น แล้วก็จะหมดกิเลสได้ เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่รู้แจ้งทั้ง ๖ ทาง ถ้าไม่รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายด้วย จะรู้แต่เฉพาะธัมมารมณ์ทางมโนทวาร ไม่สามารถที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้

    ขอให้พิจารณาถึงชีวิตตามความเป็นจริง เป็นไปได้ไหมที่จะมีฌานจิตเกิดตลอด โดยไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการรู้กลิ่น ไม่มีการรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไม่มีคิดนึก สุขทุกข์ใดๆ เลย เป็นไปไม่ได้เลย เมื่อเป็นไปไม่ได้ และสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏตามความเป็นจริง จะละอะไรได้ รู้นิดรู้หน่อย ละคลายไม่ได้แน่นอน

    สำหรับการเจริญสติปัฏฐานในภูมิที่ไม่มีขันธ์ ๕ เช่น อรูปพรหมภูมิ ไม่มีรูปธรรมเลย มีแต่นามธรรมเท่านั้น ถ้าบุคคลใดไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เวลาไปเกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ โดยไม่ใช่พระอริยเจ้า ไม่มีโอกาสที่จะเป็นพระโสดาบันเลย เช่น อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นต้น ไม่สามารถเป็นพระอริยเจ้าในอรูปพรหมบุคคลได้ เพราะว่าไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    การที่เคยไม่รู้ลักษณะของนามของรูป การที่เคยยึดถือนามรูปทั้งหมด ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เนิ่นนานมาสักเท่าไรแล้ว เพราะฉะนั้น ที่จะปล่อยให้ยังไม่รู้อยู่ และจะไปเป็นพระอริยเจ้าโดยสติไม่ระลึกรู้นามและรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจโดยทั่วถึงนั้น เป็นไปไม่ได้

    เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้สอบทานกับพระไตรปิฎก ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต พราหมณสูตร ซึ่งมีข้อความเรื่องโลกในพระวินัยของพระอริยเจ้า มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้ชำนาญในคัมภีร์เรื่องโลก ๒ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลพระผู้มีพระภาค มีข้อความว่า

    ปูรณกัสสปะ เป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง เห็นสิ่งทั้งปวง ปฏิญาณการรู้การเห็นโลกอันไม่มีที่สุด ด้วยญาณอันไม่มีที่สุด แม้นิครนถ์นาฏบุตรก็ปฏิญาณอย่างนั้นว่า เรารู้ เราเห็นโลกอันไม่มีที่สุด ด้วยญาณอันไม่มีที่สุด

    และพราหมณ์ก็ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ คนทั้งสองต่างก็พูดอวดรู้ด้วยกัน มีวาทะเป็นข้าศึกกัน ใครจริง ใครเท็จ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ อย่าเลย ข้อที่คนทั้งสองนี้ต่างพูดอวดรู้กัน มีวาทะเป็นข้าศึกกัน ใครจริง ใครเท็จนั้น พักไว้ก่อนเถิด

    ดูกร พราหมณ์ เราจักแสดงธรรมแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ซึ่งข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ว่าใครที่มีจะมีฝีเท้ารวดเร็วสักปานใดในการเดิน ในการวิ่งก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะไปถึงที่สุดโลกได้ ย่อมตายเสียก่อน

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราไม่กล่าวว่า บุคคลจะพึงรู้ จะพึงเห็น จะพึงถึงที่สุดของโลกด้วยการวิ่งเห็นปานนั้น แล้วเรายังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก ก็ไม่ควรกล่าวการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

    ดูกร พราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้ เรียกว่า โลกในวินัยของพระอริยเจ้า กามคุณ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด เสียงจะพึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยจมูก รสจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยลิ้น โผฏฐัพพะจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยกายอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด

    ดูกร พราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้แล เรียกว่า โลกในวินัยของพระอริยเจ้า

    ดูกร พราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดแห่งโลก คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัด ตนไม่พ้นไปจากโลก

    ดูกร พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องของทุติยฌานเป็นลำดับไป จนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยนัยเดียวกัน

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ภิกษุนี้เรียกว่าได้ถึงที่สุดโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดแห่งโลก แต่ชนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุนี้ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก

    ดูกร พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุเพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ อาสวะของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา

    ดูกร พราหมณ์ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดแห่งโลก ข้ามพ้นตัณหาเครื่องข้องในโลกได้แล้ว

    โลกในวินัยของพระอริยเจ้าได้แก่อะไร จะพ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กายได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะไปรู้ธัมมารมณ์ทางมโนทวารเท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องรู้ด้วยปัญญาตามความเป็นจริงของโลกในวินัยของพระอริยเจ้า

    ขออ่านซ้ำอีกครั้ง ที่ว่า

    ดูกร พราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้ เรียกว่า โลกในวินัยของพระอริยเจ้า

    ดูกร พราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดแห่งโลก

    นี่เป็นข้อความตอนหนึ่ง หมายความถึงในขณะที่ฌานจิตเกิด ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดแห่งโลก เพราะว่าในขณะนั้นพ้นจากกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชั่วคราว

    แต่พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัด ตนไม่พ้นไปจากโลก

    เพราะอะไร เพราะการที่จะละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ โลกในวินัยของพระอริยเจ้านั้น ต้องละอย่างละเอียดมาก ไม่ใช่เพียงด้วยสมาธิที่เป็นฌานจิตที่เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน หรือแม้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็ไม่สามารถที่จะสลัดตนให้พ้นจากโลกในวินัยของพระอริยเจ้าได้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก

    ดูกร พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก

    ถึงแม้ว่าจะได้ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน รูปฌานทั้งหมด และ อรูปฌานทั้งหมด ทั้งอากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก เพราะเหตุว่า ผู้ที่จะสลัดตนให้พ้นไปจากโลกได้นั้น คือ ผู้ที่ อาสวะสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริง จึงสามารถสลัดตนพ้นจากโลกได้

    ที่จะไม่รู้นั้น ไม่ได้ จะข้ามทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่พิจารณา และคิดว่า เพียงแต่รู้ธัมมารมณ์ทางมโนทวารเท่านั้นก็สามารถที่จะเป็น พระอริยบุคคลได้ เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า อวิชชาและตัณหา ที่เคยพอใจและไม่รู้ในลักษณะของนามและรูปนั้นมากมายเหลือเกิน

    พระอริยเจ้า ผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมด้วยความสมบูรณ์ของญาณ แต่ว่าสำหรับบุคคลที่ยังไม่รู้แจ้ง อะไรที่กั้นไว้ กำลังเห็นอย่างนี้ กำลังได้ยินอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่ อวิชชากับตัณหาที่สะสมมามากมายเหลือเกิน เหนียวแน่นเหลือเกิน ปิดบังหุ้มห่อไว้ ทุกขณะที่เห็น ทุกขณะที่ได้ยิน ทุกขณะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น นอกจากสติที่จะระลึกรู้แล้วละ ก็ไม่มีหนทางอื่นอีกที่จะละกิเลสได้ และต้องตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งมีลักษณะปรมัตถธรรมปรากฏให้รู้ด้วย

    อย่างพวกรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ แม้จะไม่มีฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ไม่มีทุกขเวทนา สุขเวทนาทางกาย แต่ยังมีจักขุปสาท มีโลกที่เห็นสีต่างๆ มีโสตปสาท มีโลกที่ได้ยินเสียงต่างๆ ทำให้สามารถรู้ชัดในโลกนั้น เพราะเป็นโลกที่เกิดแล้วดับ มีลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาปรากฏให้รู้ ให้ละได้

    ส่วนในภูมิที่มี ๔ ขันธ์ คือ มีแต่นามขันธ์ ๔ ไม่มีรูปขันธ์นั้น ต้องเป็นพระอริยบุคคลจากภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก่อน จึงจะเจริญวิปัสสนาต่อในอรูปพรหมภูมิได้ เพราะเหตุว่ารู้แล้ว ละแล้ว เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นนามทางมโนทวารเท่านั้น สติก็ระลึก รู้ แล้วก็ละ เป็นเรื่องของการละต่อไป เพราะเหตุว่ารู้ทั่วแล้ว ถึงแม้ว่าในอรูปพรหมภูมิไม่มีรูปธรรม แต่ก็รู้แล้วว่า นามธรรมไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ความสมบูรณ์ของปัญญาก็เกิด ทำให้บรรลุความเป็นพระอริยเจ้าขั้นต่อไปได้ เมื่อรู้แล้ว เป็นพระอริยเจ้าแล้วจากภูมิที่มีขันธ์ ๕

    ถ. มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุตติ คือ รู้ผิด พ้นผิดนั้น เป็นอย่างไร

    สุ . ยังไม่พ้น ก็คิดว่าพ้นแล้ว ยังไม่ได้รู้ ก็คิดว่ารู้แล้ว ยังไม่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ก็คิดว่าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ยังไม่รู้ลักษณะปรมัตถธรรมของรูป ของนามตามความเป็นจริง ก็เข้าใจว่ารู้แล้วในสิ่งที่ไม่มีลักษณะปรากฏ นั่นเป็น มิจฉาญาณ และถ้าเข้าใจว่าเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็เป็นมิจฉาวิมุตติ

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 179

    สุ. ท่านผู้ฟังควรจะคิดว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดง พระธรรมไว้โดยละเอียด ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ถ้าธรรมไม่ใช่เรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง พระผู้มีพระภาคคงไม่ต้องทรงแสดงสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมที่มีจริงไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เพื่อเตือนให้ระลึกได้ ให้รู้ว่าเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูก รู้ผิดหรือรู้ถูก พ้นผิดหรือพ้นถูก นี่คือประโยชน์ที่ได้รับจากพระธรรมวินัย

    ถ. เท่าที่ฟังท่านอาจารย์บรรยายมา และเท่าที่ผมเข้าใจ พอสรุปได้ว่า การเจริญวิปัสสนาหรือการเจริญสติปัฏฐานนี้ ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดอารมณ์ และไม่มีการบังคับใดๆ ซึ่งผมคิดว่าถูกต้อง เพราะอย่างการเจริญมรณานุสติก็ดี พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า การเจริญนี้ต้องเจริญทุกลมหายใจเข้าออก ขณะกำลังอยู่ที่นี่ เราก็มีลมหายใจ ถ้าไม่ได้เจริญสติ ก็หลงลืมสติไป แต่ถ้าเจริญ ก็เป็นการเจริญ ไม่ใช่ว่าจะเจริญสติ และจะต้องไปหายใจในที่ใดที่หนึ่งซึ่งไม่ใช่สถานที่ที่กำลังหายใจอยู่เดี๋ยวนี้

    แต่มีผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานท่านหนึ่ง ท่านถามอาจารย์ท่านที่สอบอารมณ์ว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้จะเจริญที่บ้านได้ไหม อาจารย์ท่านนั้นก็ตอบว่า ได้ แต่ว่าอย่าเจริญให้มากนัก ผมไม่ทราบว่าที่ท่านตอบอย่างนั้นหมายความว่าอะไร

    สุ . ไม่มีข้อความในพระไตรปิฎกที่กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันนั้นอย่าเจริญให้มากนัก พระผู้มีพระภาคไม่ทรงส่งเสริมให้บุคคลใดหลงลืมสติ เพราะเหตุว่าปัจจัยที่จะให้หลงลืมสตินั้นมีมากอยู่แล้ว ผู้ที่ไม่หลงลืมสติ คือ พระอรหันต์ นอกจากพระอรหันต์แล้ว บุคคลที่เหลือยังเป็นผู้ที่หลงลืมสติตามลำดับขั้น

    พระอนาคามีบุคคลหลงลืมสติน้อยกว่าพระสกทาคามีบุคคล พระสกทาคามีบุคคลก็หลงลืมสติน้อยกว่าพระโสดาบันบุคคล พระโสดาบันบุคคลก็หลงลืมสติน้อยกว่าปุถุชน และปุถุชนที่เจริญสติบ่อยๆ เนืองๆ ก็หลงลืมสติน้อยกว่าปุถุชนผู้ไม่เจริญสติ

    สติเป็นคุณธรรม เป็นโสภณธรรม มีอุปการคุณมาก ที่จะให้เจริญน้อยๆ หรืออย่าเจริญให้มากนัก ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ที่กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันก็เจริญได้หรอก แต่ว่าอย่าเจริญมากนัก ก็ไม่ทราบว่าทำไม

    การเจริญสติปัฏฐานเป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นคุณเป็นประโยชน์ ทำไมไม่ให้เจริญเนืองๆ บ่อยๆ ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะว่าสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์นั้นจะไม่ให้โทษเลย แต่ถ้ากล่าวว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้นเจริญได้ แต่ว่าอย่าเจริญให้มากนัก เพราะอะไร ทำไมไม่ให้เจริญให้มาก มีโทษอะไรถ้าจะเจริญสติปัฏฐานให้มาก เพราะฉะนั้น ไม่มีเหตุผล และไม่ตรงกับพระธรรมวินัย

    ในพระธรรมวินัยส่งเสริมให้เจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ ไม่ใช่กั้นไม่ให้เจริญสติปัฏฐาน ธรรมนี้สอดคล้องในเหตุผลทุกประการ แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่เป็นเหตุไม่เป็นผลไม่ใช่ธรรมวินัย ไม่เคยปรากฏว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้วจะเกิดโทษเกิดภัยขึ้น ในทางตรงกันข้าม การเจริญสติปัฏฐานทำให้ปัญญารู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง

    ท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน บางวันสติไม่เกิดเลย เป็นไปได้ไหมอย่างนี้ เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตนที่ไปบังคับให้สติเกิด ซึ่งผู้ที่เจริญสติเองทราบความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติรู้ความเป็นอนัตตาของสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง รูปบ้าง ทีละเล็กทีละน้อย เป็นเรื่องที่จะต้องสะสม เพื่อที่ในวันหนึ่งเวลาที่สติ ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป ปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะที่เป็นนาม ในลักษณะที่เป็นรูป และปัญญาที่รู้ชัดในนามในรูปก็รู้ชัดในนามในรูปตามปกติ เหมือนตอนที่เริ่มเจริญสติ คือ ตอนที่เริ่มเจริญสติ ระลึกได้ทางตาในขณะที่เห็น ทางหูในขณะที่ได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติอย่างไร สติก็เกิดบ่อยขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐานที่อบรมให้มีบ่อยๆ เนืองๆ นั้น เพื่อให้ปัญญารู้ชัด ไม่ใช่เพื่อไปบังคับให้ติดต่อกัน ถ้าท่านสอบทานผลของการปฏิบัติในพระไตรปิฎกจะพบว่า พระสาวกแต่ละท่าน ก่อนการรู้แจ้งอริยสัจธรรมท่านก็มีชีวิตของท่านตามปกติธรรมดา แต่ละท่านได้สะสมเหตุปัจจัยมาอย่างไร ท่านก็มีชีวิตอย่างนั้น แต่เวลาที่ได้ฟังธรรมก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต่างกันไหมกับการที่ท่านเริ่มสะสมอบรมการเจริญสติปัฏฐานในอดีตชาติตั้งแต่ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ในอดีตกาล และช่วงเวลาก่อนที่ท่านจะพบพระผู้มีพระภาค ก่อนที่จะได้ฟังธรรม ท่านมีชีวิตเป็นปกติธรรมดาทุกอย่าง ไม่เคยได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ทรงแสดงธรรม บุคคลที่ฟังก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อได้ฟังธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็เจริญเหตุ คือ เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ให้คลาดเคลื่อนไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งกิจของพุทธบริษัทที่ได้ฟังธรรม คือ สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติที่เกิดแล้วปรากฏตามความเป็นจริง จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ ของญาณแต่ละขั้น

    ท่านจะเจริญสติปัฏฐานอย่างนี้ไหม หรือว่าจะไปบังคับไม่ให้หลงลืมสติ ติดต่อกัน นั่นเป็นลักษณะของตัวตน เพราะว่าสติเป็นอนัตตาไม่สามารถที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ให้เกิดสืบต่อกันชั่วโมงหนึ่ง ๒ ชั่วโมง ตอนเช้า ตอนค่ำ ได้ตามความปรารถนา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ปัญญาก็ไม่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ถ. ที่อาจารย์บรรยายมานี้ ตรงตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ และเป็นพุทธประสงค์ด้วยที่จะให้พุทธบริษัททั้งหลายเจริญสติอย่างที่อาจารย์บรรยาย มิใช่ให้ไปจำกัดอย่างโน้น อย่างนี้ หรือว่าเลือกเอาอย่างโน้น อย่างนี้ มีอีกเรื่องหนึ่ง ได้ฟังจากทางวิทยุที่ท่านสอบถามกัน ท่านผู้สอบถามบอกว่า ขณะที่นั่ง กำหนดรูปนั่ง เกิดเมื่อย เกิดปวดขึ้นมา จะให้กำหนดที่เวทนาหรืออย่างไร ท่านผู้ตอบก็ตอบว่า ไม่ต้องกำหนดที่เวทนา ให้กำหนดที่รูปนั่งนั่น ก็ท่านเองบอกว่า ให้รู้ปัจจุบันอารมณ์ แต่เวทนาเกิดขึ้นกลับบอกว่า เวทนานี่ไม่ต้องกำหนดหรอก ให้กำหนดที่รูปนั่งผมก็ไม่เข้าใจอีกเหมือนกันว่า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น

    สุ . เรื่องที่ไม่เข้าใจคงจะมีมาก เพราะว่าขาดเหตุผลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ธรรมจะต้องตรวจสอบ และถ้าท่านตรวจสอบกับสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ท่านจะไม่เข้าใจสภาพธรรมคลาดเคลื่อนเลย และที่กล่าวว่า เวลาที่เกิดทุกขเวทนา เมื่อยเกิดขึ้น จะไม่พิจารณาเวทนา แต่ให้ไปดูที่รูปนั่ง อย่างนั้นจะทำให้ท่านรู้อะไร เพราะเหตุว่าการที่จะรู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงจนละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ จะต้องมีลักษณะของนามธรรมปรากฏ มีลักษณะที่เป็นรูปธรรมปรากฏว่า ลักษณะที่เป็นนามธรรมนั้น ลักษณะที่เป็นรูปธรรมนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะ เป็นแต่เพียงลักษณะของรูปธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะเท่านั้นเอง การเจริญปัญญาต้องสมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุผลทุกประการ

    บางท่านอาจจะพิจารณาก่อนที่จะเปลี่ยนอิริยาบถว่า ที่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะว่าที่นั่งนี้เป็นทุกข์มากเหลือเกิน กำลังปวด กำลังเมื่อย เพราะฉะนั้น ที่จะเปลี่ยนไปนี้เพื่อแก้ทุกข์ ท่านคิดว่า เป็นปัญญาถ้าพิจารณาอย่างนั้น แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นรู้อะไร รู้ลักษณะของนามธรรม รู้ลักษณะของรูปธรรม ไม่ใช่ให้คิดโดยความเป็นตัวตนว่า ที่กำลังเปลี่ยนนี้เพราะเหตุว่านั่งเป็นทุกข์ เมื่อยมาก จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนอิริยาบถ และการเปลี่ยนอิริยาบถนั้นเพื่อเป็นการแก้ทุกข์

    นี่เป็นตัวตนที่กำลังคิด สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม ของรูปธรรมชนิดใดๆ ในขณะนั้น เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าเกิดระลึกที่นึกคิด สติก็จะต้องระลึกว่า แม้ที่คิดอย่างนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่มีกฎมีเกณฑ์ให้คิดอย่างนั้นทุกๆ ครั้ง และก็เข้าใจว่า เป็นปัญญาที่ละกิเลส แต่ปัญญาที่จะละกิเลสได้ ก็เพราะรู้ว่า ลักษณะที่ปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งหมดนั้นเป็นนามธรรมแต่ละชนิด เป็นรูปธรรมแต่ละชนิด จึงจะละการยึดถือนามและรูปว่าเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดปวดเมื่อยขึ้นมา และไม่รู้ว่า สภาพนั้นเกิดขึ้นปรากฏเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนกับนามธรรมชนิดอื่น ไม่เหมือนกับนามเห็น นามได้ยิน นามรู้กลิ่น นามรู้รส ลักษณะของความปวดความเมื่อยนั้นเป็นสภาพความรู้สึก เป็นนามธรรมที่รู้สึกชนิดหนึ่ง

    เมื่อยเป็นรูป หรือเป็นนาม เป็นนาม เป็นความรู้สึก รูปเมื่อยได้ไหม

    ถ. อาจารย์ท่านนั้นตอบว่า ความเมื่อย ความปวดนั้น ต้องอาศัยรูป ถ้าไม่มีรูป ความปวดก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปกำหนดที่เวทนา ให้กำหนดที่รูปนั่นเอง ท่านพูดถึงรูปนั่ง รูปยืน รูปนอน รูปเดิน

    สุ. เมื่อยปวดที่กาย เกิดขึ้นเพราะท่าทางหรือว่าเพราะรูป รูปกำลังประชุมทรงอยู่ ตั้งอยู่ มีความทรงจำรู้ว่า ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในท่าอย่างไร ความปวดความเมื่อยที่เกิดขึ้นนั้นมีท่าทางเป็นเหตุเป็นปัจจัย หรือว่ามีรูปดิน น้ำ ไฟ ลมเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกปวด ความรู้สึกเมื่อยเกิดขึ้น ตรวจสอบได้กับพระอภิธรรมปิฎก กายปสาท เป็นรูปที่สามารถรับกระทบสิ่งที่เย็น ที่อ่อน ที่ร้อน ที่แข็ง ที่ตึง ที่ไหว เป็นปัจจัยให้เกิดสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา

    เวทนาเกิดขึ้นได้เพราะผัสสะ มีการกระทบ จึงเป็นปัจจัยให้รู้สึกในสิ่งที่กำลังกระทบนั้น เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ถ้าขณะใดไม่ได้สัมผัสอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ทุกขเวทนาหรือสุขเวทนาทางกายก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น สุขเวทนาหรือทุกขเวทนานั้น เกิดเพราะกายปสาทกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไม่ใช่ท่าทาง

    ถ. อาจารย์กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้ ให้สติตามรู้ไปเรื่อยว่า อะไรจะเกิดขึ้นก็ให้กำหนดรู้ไปเรื่อยๆ แต่ผมเห็นว่า สติไปกำหนดอย่างนั้น คิดไปแล้วรู้สึกว่ามั่วไปหมด

    สุ . มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน และคงจะเป็นผู้ที่สนใจในการเจริญวิปัสสนา ท่านก็รับฟังทุกๆ โอกาสที่จะได้รับฟัง เพื่อจะได้รับฟังเหตุผลข้อปฏิบัติให้ถูกต้อง ท่านผู้ฟังท่านนั้นได้เล่าให้ฟังว่า ในตอนแรกตอนที่กำลังจะทำวิปัสสนา จะทำอย่างนี้ จะทำอย่างนั้น วุ่นวายเหลือเกิน อย่างไรๆ ก็รู้สึกว่ายุ่ง ทำไม่ถูก ทำไม่ได้ แต่พอไม่ทำ ฟัง และทราบลักษณะของสติ ขณะใดมีสติก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะหนึ่ง ลักษณะใด เลือกไม่ได้ แล้วแต่สติซึ่งเป็นอนัตตา เมื่อทราบว่า จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องเจริญสติ เจริญปัญญา มีความรู้ที่จะละคลายความไม่รู้การที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทั้งปวง สติจะเกิดระลึกทางตา ใครบังคับบัญชาว่าไม่ให้ระลึกได้ กำลังได้ยินเมื่อสักครู่นี้ สติอาจจะไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของเสียง ไม่ระลึกลักษณะของได้ยิน แต่ว่าขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สติระลึกรู้ลักษณะของเสียง ใครห้ามได้ว่า อย่าระลึก อย่ารู้ อย่าเกิด บังคับได้ไหม ไม่ได้ เป็นเรื่องของอนัตตาทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีสติก็ระลึกได้ รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ พิจารณา สำเหนียก จนกระทั่งปัญญารู้ชัดว่า เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หรือว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นรูปธรรม ทีละเล็กทีละน้อยเป็นปกติ วันไหนสติเกิดก็เกิด บางวันสติไม่เกิดเลย ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่จะหลงลืมสติไปในวันนั้น บางวันสติก็เกิดมาก บางวันสติก็เกิดน้อย ไม่ต้องไปทำให้วุ่นวาย ไม่ใช่เป็นเรื่องเอาสติไปจ้องที่นี่ ไปดูที่นั่น ใครเอาสติไปได้

    สติเป็นสภาพที่ระลึกตรงลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่ปรากฏ เกิดแล้วปรากฏตามปกติทีละเล็กทีละน้อย จะระลึกรู้ลักษณะของนามอะไรบ่อย รูปอะไรบ่อย ก็ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะไปเจาะจง บังคับว่า อย่าไปรู้นามอื่นรูปอื่น แต่เป็นเรื่องของสติเองที่เมื่อเกิดขึ้น จะระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปทางหนึ่งหรือทางใด ก่อนหรือหลัง มากหรือน้อย เป็นเรื่องของสติ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จ้องไว้ก่อนว่า ไม่ให้รู้โน่น ไม่ให้รู้นี่

    สำหรับการที่กามคุณ ๕ เป็นโลกในวินัยของพระอริยเจ้า ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายจะต้องรู้ชัดตามความเป็นจริงจึงจะละได้ ก็เพราะเหตุว่าความยินดี ความพอใจ ที่ทุกคนมีมากมายเหลือเกิน ทุกภพ ทุกชาติ ก็มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะไปเกิดเป็นพรหมบุคคล ในภพนั้น ชาตินั้น มีจักขุปสาท มีจักขุวิญญาณ มีรูปปรากฏให้รู้ทางตา มีโสตปสาท มีเสียงที่ปรากฏให้รู้ มีสภาพที่ได้ยิน ที่รู้เสียงนั้น แต่ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีโผฏฐัพพะปรากฏในพรหมโลก เพราะเหตุว่าท่านเพียรที่จะระงับไว้ด้วยฌานก่อนที่จะปฏิสนธิเป็นพรหมบุคคล แต่ก็ยังไม่หมดเชื้อของความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตราบใดที่ยังไม่รู้ชัดสภาพของโลกในวินัยของพระอริยเจ้าตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงไว้ว่า กามคุณ ๕ นี้แหละ คือ โลกในพระวินัยของพระอริยเจ้า

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 180


    หมายเลข 13713
    28 พ.ค. 2568