อนนุโสจิยชาดก ผู้ที่ได้สะสมปัญญามามาก


    อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคงเป็นประโยชน์ที่จะได้เห็นความรู้สึกของผู้ที่ได้สะสมปัญญามามาก

    อรรถกถาชาดก จตุกกนิบาตชาดก อนนุโสจิยชาดก มีข้อความว่า

    นางสัมมิลลหาสินีผู้เจริญ ได้ไปอยู่ในระหว่างพวกสัตว์ที่ตายไปแล้วเป็น จำนวนมาก เมื่อนางไปอยู่กับสัตว์เหล่านั้น จักชื่อได้ว่าเป็นอะไรกับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงมิได้เศร้าโศกถึงนางสัมมิลลหาสินีที่รักนี้

    ถ้าบุคคลจะพึงเศร้าโศกถึงความตาย อันจะไม่เกิดมีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตน ซึ่งจะต้องตกไปอยู่ในอำนาจของมัจจุราชทุกเมื่อ

    อายุสังขารหาได้เป็นไปตามเฉพาะสัตว์ที่ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่เท่านั้น ก็หาไม่ วัยย่อมเสื่อมไปทุกขณะที่ยังหลับตา และลืมตาอยู่ เมื่อวัยเสื่อมไปอย่างนั้นหนอ ในตนซึ่งเป็นทางอันตรายนั้นหนอ ต้องมีความพลัดพรากจากกันโดย ไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ควรมีเมตตาเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้วไม่ควรต้องเศร้าโศกถึงกัน

    ข้อความใน อรรถกถา อนนุโสจิยชาดกที่ ๘ มีว่า

    พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกุฎุมพีคนหนึ่ง ผู้มีภรรยาตาย จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า พหูนํ วิชฺชติ โภติ ดังนี้

    ได้ยินว่า กุฎุมพีนั้นเมื่อภรรยาตายแล้วไม่อาบน้ำ ไม่บริโภคอาหาร ไม่ประกอบการงาน ถูกความโศกครอบงำ ไปป่าช้า เที่ยวปริเทวนาการอยู่อย่างเดียว แต่อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคโพลงอยู่ในภายในของกุฎุมพีนั้น เหมือนประทีปโพลงอยู่ในหม้อฉะนั้น

    ใครมีอุปนิสัยที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน บุคคลอื่นไม่สามารถรู้ได้ นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะเหตุว่ากิเลสยังไม่ดับ จึงยังมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็นความโศกเศร้าอย่างมาก แต่ปัญญาที่ได้สะสมมาแล้วในอดีตสามารถที่จะได้ฟังพระธรรม และเข้าใจ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ได้ทอดพระเนตรเห็นกุฎุมพีนั้น ทรงพระดำริว่า เว้นเราเสีย ใครๆ อื่นผู้จะนำความโศกออกแล้วให้โสดาปัตติมรรค แก่กุฎุมพีนี้ย่อมไม่มี เราจักเป็นที่พึงอาศัยของกุฎุมพีนั้น

    นี่คือพระมหากรุณา ซึ่งถ้าไม่ทรงพระมหากรุณา กุฎุมพีนั้นไม่อาจจะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันได้ ตลอดชีวิตของพระองค์หลังจากการตรัสรู้แล้ว ถ้ามีโอกาสที่จะอนุเคราะห์ให้บุคคลใดได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ทรงละเว้น

    จึงเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต ทรงพาปัจฉาสมณะไปยังประตูเรือนของกุฎุมพีนั้น กุฎุมพีได้สดับการเสด็จมา ทรงมีสักการะมีการลุกรับเป็นต้นอันกุฎุมพีกระทำแล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาด แล้วตรัสถามกุฎุมพีผู้มานั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งว่า

    อุบาสก ท่านคิดอะไรหรือ

    ทุกคนคิด แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้คิดอย่างไร

    เมื่อกุฎุมพีนั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภรรยาของ ข้าพระองค์ตาย ข้าพระองค์เศร้าโศกถึงเขา จึงคิดอยู่ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    อุบาสก ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่มีการแตกเป็นธรรมดาย่อมแตกไป เมื่อแตกไป จึงไม่ควรคิด แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลายเมื่อภรรยาตายแล้วก็ยังคิดว่า สิ่งที่มี การแตกเป็นธรรมดา ได้แตกไปแล้ว

    อันกุฎุมพีนั้นทูลอาราธนา พระองค์จึงตรัสเรื่องในอดีต

    ในพระชาติที่พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีชีวิตคล้ายกับชีวิตก่อนบวชของท่านพระมหากัสสปะ และนางภัททากาปิลานี ที่มารดาบิดาให้ท่านแต่งงานกับ นางสัมมิลลหาสินี ทั้งพระผู้มีพระภาค และนางสัมมิลลหาสินีต่างก็มีความประสงค์ จะบวช

    คนทั้งสองนั้นนอนอยู่ในห้องเดียวกัน แม้จะนอนอยู่บนที่นอนเดียวกัน ก็ไม่ได้แลดูกัน และกันด้วยอำนาจกิเลส อยู่ในสถานที่เดียวกัน เหมือนภิกษุ ๒ รูป และเหมือนพรหม ๒ องค์อยู่ในที่เดียวกันฉะนั้น

    ภายหลังเมื่อบิดามารดาสิ้นชีวิตแล้ว คนทั้งสองนั้นจึงสละทรัพย์ทั้งหมดให้ทาน ละทิ้งสมบัติเหมือนก้อนน้ำลาย เข้าไปยังป่าหิมวันต์ ทั้งสองบวชเป็นฤๅษี มีรากไม้ และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร เมื่ออยู่ในป่าหิมวันต์นานแล้ว ต้องการจะเสพรสเค็ม และรสเปรี้ยว จึงลงจากป่าหิมวันต์ถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ ดาบสทั้งสองนั้นบริโภคภัตอันเจือปนปราศจากโอชะ (คือ บริโภคอาหารที่ไม่มีรสอร่อย ไม่มีโอชะ ไม่ทำให้ร่างกายสมบูรณ์) ก็เกิดอาพาธลงโลหิต นางดาบสนั้นเมื่อไม่ได้เภสัช อันเป็นสัปปายะก็ได้อ่อนกำลังลงในเวลาภิกขาจาร พระโพธิสัตว์ได้พยุงนางนำไปยังประตูพระนคร แล้วให้นอนบนแผ่นกระดาน ณ ศาลาหลังหนึ่ง ส่วนตนเข้าไปภิกขาจาร

    นางดาบสนั้นสิ้นชีวิตในขณะที่พระโพธิสัตว์ยังไม่กลับ มหาชนเห็นรูปสมบัติ ของนางก็พากันห้อมล้อมร้องไห้ร่ำไร พระโพธิสัตว์เที่ยวภิกขาจารแล้วกลับมาก็รู้ว่า นางสิ้นชีวิตแล้ว ดำริว่า สิ่งที่มีอันจะแตกไปเป็นธรรมดา ย่อมแตกไป สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงหนอ มีคติอย่างนี้เอง แล้วนั่งบนแผ่นกระดานที่นางนอนอยู่นั่นแหละ บริโภคโภชนะอันระคนกัน แล้วบ้วนปาก

    เป็นความอดทนที่ได้สะสมมาที่จะไม่เศร้าโศกเลย เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดา ทั้งๆ ที่มหาชนทั้งหลายไม่ได้เกี่ยวข้องกับนางดาบสนั้นเลยร้องไห้คร่ำครวญ เมื่อเห็นรูปสมบัติของนาง แต่พระโพธิสัตว์เห็นความเป็นธรรมดาของสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งที่มีอันจะแตกไปเป็นธรรมดา นั่งบนแผ่นกระดานที่นางนอนอยู่นั่นแหละ บริโภคโภชนะอันระคนกัน แล้วบ้วนปาก

    มหาชนที่ยืนห้อมล้อมถามว่า

    ท่านผู้เจริญ ปริพาชิกานี้เป็นอะไรกับท่าน

    พระโพธิสัตว์กล่าวว่า

    เมื่อเวลาเป็นคฤหัสถ์ นางเป็นบาทบริจาริกาของเรา

    มหาชนกล่าวว่า

    ท่านผู้เจริญ พวกเรายังอดทนไม่ได้ก่อน พากันร้องไห้ร่ำไร เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ร้องไห้

    พระโพธิสัตว์กล่าวว่า

    นางปริพาชิกานี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ย่อมเป็นอะไรๆ กับเรา บัดนี้ไม่เป็น อะไรๆ กัน เพราะนางเป็นผู้สมัครสมานกับปรโลก ไปสู่อำนาจของคนอื่นแล้ว เราจะร้องไห้เพราะอะไร

    เมื่อจะแสดงธรรมแก่มหาชน จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

    นางสัมมิลลหาสินีผู้เจริญ ได้ไปอยู่ในระหว่างพวกสัตว์ที่ตายไปแล้วเป็นจำนวนมาก เมื่อนางไปอยู่กับพวกสัตว์เหล่านั้น จักชื่อว่าเป็นอะไรกับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงมิได้เศร้าโศกถึงนางสัมมิลลหาสินีผู้เป็นที่รักนี้

    ถ้าบุคคลจะเศร้าโศก ถึงสิ่งที่ไม่มีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น พึงเศร้าโศกถึงตน ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชอยู่ทุกเวลา

    อายุสังขารใช่ว่าจะติดตามเฉพาะสัตว์ผู้ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่เท่านั้น ก็หาไม่ แม้ในเวลาชั่วลืมตา หลับตาวัยก็เสื่อมไปแล้ว

    ในอัตภาพซึ่งเป็นทางอันตรายนั้นหนอ ต้องมีความพลัดพรากจากกันโดย ไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังอยู่ควรเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้วไม่ควรเศร้าโศกถึง

    ถ้าท่านผู้ฟังทบทวนคาถาที่พระโพธิสัตว์กล่าว จะเห็นได้ว่า เป็นการกล่าวถึงสภาพธรรมในขณะนี้ซึ่งไม่เที่ยง เช่น ข้อความที่ว่า ถ้าบุคคลจะเศร้าโศก ถึงสิ่งที่ไม่มีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น พึงเศร้าโศกถึงตนซึ่งตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชอยู่ทุกเวลาแทนที่จะให้คิดถึงนางสัมมิลลหาสินี กลับให้ผู้ฟังย้อนระลึกถึงตนเองทุกคน ซึ่งทุกขณะนามธรรม และรูปธรรมดับไปไม่เหลือ เหมือนคนที่ตายจากไปก็ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นฉันใด นามธรรม และรูปธรรมของทุกท่านในขณะนี้ ก็เหมือนกันฉันนั้น คือ จากไป ดับไปอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเศร้าโศกถึง ผู้ที่ตายจากไป ก็ควรเศร้าโศกถึงนามธรรม และรูปธรรมซึ่งกำลังดับไปในขณะนี้ด้วย

    นี่คือผู้ที่เห็นชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะว่า อายุสังขารใช่ว่าจะติดตามเฉพาะสัตว์ผู้ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่เท่านั้น ก็หาไม่ คือ ไม่ต้องจากนั่งไปเป็นนอน จากนอนไปเป็นยืน หรือจากยืนไปเป็นเดิน แม้ในเวลาชั่วลืมตา หลับตาวัยก็เสื่อมไปแล้ว

    ในอัตภาพซึ่งเป็นทางอันตรายนั้นหนอ ต้องมีความพลัดพรากจากกันโดย ไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังอยู่ควรเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้วไม่ควรเศร้าโศกถึง

    จะมีความอดทนอย่างนี้ไหม เวลาที่มีการพลัดพราก การจากไปของเพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือญาติที่คุ้นเคย ขณะใดที่เศร้าโศก ขณะนั้นถ้าสติเกิดระลึกได้จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่อดทน และถ้าเศร้าโศกถึงคนที่ตายจริงๆ ก็เศร้าโศกถึงนามธรรม และรูปธรรมของตัวเองในขณะนี้ซึ่งเกิด และดับไปไม่เหลือเลยด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระมหาสัตว์เมื่อแสดงอาการไม่เที่ยงด้วยคาถา ๔ คาถาอย่างนี้ แสดงธรรมแล้ว มหาชนพากันกระทำฌาปนกิจสรีระของนางปริพาชิกาแล้ว พระมหาสัตว์เข้าไปยังป่าหิมวันต์ ทำฌาน และอภิญญาให้เกิด ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ กุฎุมพีได้ดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล นางสัมมิลลหาสินีในครั้งนั้นได้เป็นราหุลมารดา ส่วนดาบสในครั้งนั้นได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล

    ถ้าในขณะที่ฟังเข้าใจความหมายจริงๆ อย่างกุฎุมพีท่านนั้น ที่ว่า ถ้าบุคคลจะเศร้าโศกถึงสิ่งที่ไม่มีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น พึงเศร้าโศกถึงตนซึ่งตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชอยู่ทุกเวลา ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะไม่ใช่เพียงคิด แต่ในขณะที่ฟัง รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924


    หมายเลข 12947
    15 เม.ย. 2567