เวลาฟังต้องไตร่ตรอง เป็นความเข้าใจจริงๆ


        ผู้ฟัง พูดถึงลักษณะของการปฏิบัติ แม้กระทั่งการปฏิบัติกัมมัฏฐานที่ได้ยินมาว่า ถ้าทำถูกก็เหมือนกับมีวิการรูป คือ จะรู้สึกเบา อ่อน ควรแก่การงาน

        ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่า เห็นว่าธรรมะเป็นเรื่องลึกซึ้ง หรือว่าเป็นเรื่องง่ายๆ

        ผู้ฟัง เป็นเรื่องลึกซึ้งมาก

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินได้ฟังต้องไตร่ตรองให้เป็นความเข้าใจจริงๆ และต้องหลายที่มาด้วย ไม่ใช่เฉพาะที่มาเดียว อย่างที่กล่าวว่า วิการรูปไม่เกิดกับกัมมชรูปใดๆ เลยทั้งสิ้น กรรมไม่ได้เป็นสมุฏฐานให้เกิดวิการรูป วิการรูปคือลักษณะที่วิการของมหาภูตรูป คือ เบา หรืออ่อน หรือควรแก่การงาน ถ้าไม่มีสมุฏฐาน คือ จิต หรืออาหาร หรืออุตุ ก็ไม่มีวิการรูปเกิดได้ อันนี้ถูกต้องไหม

        ผู้ฟัง ถูก

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกัมมชรูปซึมซาบอยู่ทั่วตัว หรือไม่

        ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

        ท่านอาจารย์ แล้วไม่ใช่มีแต่เฉพาะกัมมชรูปด้วย มีจิตชรูป มีอุตุชรูป มีอาหารชรูปด้วย เพราะฉะนั้นในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ จะรู้วิการรูปไหม ในเมื่อที่นั้นก็มีกัมมชรูป ซึ่งไม่มีวิการรูปรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่า ลักษณะที่ปรากฏ ที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน เราคิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่ลักษณะของมหาภูตรูปอ่อนก็มี อ่อนมากก็มี แต่ก็คือลักษณะของธาตุดินนั่นเอง ไม่ใช่อาการที่วิการที่สามารถจะปรากฏเป็นโคจรรูป หรือวิสยรูป เมื่อมีการกระทบสัมผัส นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่จะเข้าใจธรรมะ เราก็ต้องศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏที่เคยยึดถือว่า เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย อ่อน หรือแข็ง เรารู้วิการรูป หรือไม่ เพราะขณะนั้นก็มีกัมมชรูปซึ่งไม่มีวิการรูปเกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นจะกล่าวง่ายๆ ว่า ลักษณะที่อ่อน หรือแข็งเป็นวิการรูปไม่ได้ แต่จะต้องรู้ว่า ปัญญาที่จะเกิดขึ้นสามารถจะรู้ความต่างของทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร เมื่อนั้นวิการรูปก็ปรากฏให้รู้ได้ทางมโนทวาร ไม่ใช่ทางปัญจทวาร

        เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจะนำไปสู่การเข้าใจถูก เห็นถูก เมื่อเป็นผู้ไม่คำนึงว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาจากไหน โดยใคร แต่ถ้ามาจากพระไตรปิฎก ก็ไม่ควรหยุดเพียงคำแปล ควรที่จะกลับไปสอบทานถึงภาษาบาลี ความหมายเดิม รวมทั้งอรรถจริงๆ ของความหมายนั้นด้วย เพราะว่าแต่ละศัพท์ก็แปลได้หลายอย่าง อย่างภาษามคธซึ่งเป็นภาษาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ที่ใช้คำว่า ภาษาบาลี เพราะดำรงรักษาพระศาสนาที่ทรงแสดงเป็นภาษามคธี ก็เป็นภาษาชาวบ้านสำหรับคนมคธที่เขาพูดกัน เพราะฉะนั้นความหมายก็มีตั้งแต่ธรรมดา จนกระทั่งถึงความหมายถึงสภาพธรรมที่ลึกซึ้ง เช่น คำว่า “นิโรธ” ธรรมดาก็แปลว่า ดับ แต่ว่านิโรธมีความหมายถึงลักษณะของนิพพาน นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การศึกษาไม่ใช่เราจะศึกษานิดๆ หน่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงความละเอียดของธรรมะ ซึ่งถ้าได้เข้าใจแล้วจะรู้ได้เลยว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แม้มีจริง แต่เมื่อรู้ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ระดับเผินๆ เพียงอ่าน แล้วก็จำ แล้วก็คิด แล้วก็เข้าใจว่า ถูกต้อง เช่น ลักษณะที่อ่อน จะเข้าใจว่าเป็นลักษณะของวิการรูปไม่ได้ จะต้องรู้ถึงความต่างกันจริงๆ และอีกประการหนึ่ง ธรรมะเป็นเรื่องที่เมื่อเข้าใจแล้ว จะละความสงสัย และความไม่รู้ แต่ไม่เป็นสมุจเฉท เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาระดับขั้นที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งถึงความเป็นพระโสดาบัน

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 369


    หมายเลข 12925
    16 ม.ค. 2567