เข้าใจละเอียดขึ้นจนกว่าความเข้าใจจะมั่นคง


        สุกิจ ท่านอาจารย์หมายถึงสภาพของสติที่ระลึกได้ตามความเป็นจริง

        สุ. ค่ะ พูดถึงสติได้ พูดถึงเห็นได้ พูดถึงโกรธได้ พูดถึงเจตนา ความจงใจได้ พูดถึงธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรู้ลักษณะของสิ่งที่เราพูด แต่ว่าการพูดทำให้สามารถค่อยๆ ไตร่ตรอง ค่อยๆ เห็นความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม

        ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่มั่นคงมากขึ้น ที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิด แล้วก็รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา

        เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจว่า ประโยชน์ของการฟัง คือ ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ จนกว่าสามารถจะรู้ลักษณะจริงๆ นั้นได้ แต่ไม่ใช่ไปหวังว่า เพื่อที่ทำให้เกิดการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าเพื่อให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชา แต่อาศัยความเข้าใจที่เข้าใจขึ้น ก็จะรู้ว่า ไม่ใช่เราที่เข้าใจด้วย ไม่มีเราเลย ฟังเพื่อให้เข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ แต่ละลักษณะ

        เพราะฉะนั้นในขณะนี้เราไม่สามารถรู้ลักษณะของสติ ถูกต้องไหมคะ กำลังฟังเรื่องสติ เพราะอะไรคะ สติเป็นนามธรรม รู้ยากไหม ไม่ได้ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นสติก็เช่นกับนามธรรมทั้งหลายซึ่งไม่มีรูปร่าง เมื่อเกิดเมื่อไร ก็ทำกิจหน้าที่ของสติเมื่อนั้น

        เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังฟังธรรม เราไม่ได้ไปทำอะไรเลย ไม่มีการให้ทาน และไม่ได้วิรัติแบบวิรตีที่ว่า วิรัติทุจริต ไม่ได้กล่าววาจา หรือคำอะไรๆ แต่ว่าขณะนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นกุศล เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีสติ ซึ่งเป็นโสภณเจตสิกเกิด จึงทำให้เราฟังเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง พอไม่เข้าใจนิดเดียว จะกล่าวว่าขณะนั้นมีสติ หรือเป็นสติ ไม่ได้แล้ว

        เพราะฉะนั้นการที่สภาพธรรมเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก จนไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะแต่ละลักษณะได้ ต้องอาศัยการฟัง พอค่อยเข้าใจ ก็จะเห็นความต่างของขณะซึ่งขณะนี้ก็มีสลับกันเร็วมาก เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล แต่ก็ยังไม่ได้รู้ถึงลักษณะของกุศล และอกุศล จนกว่าความเข้าใจจะมั่นคง

        ด้วยเหตุนี้ก็ขอให้ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องสติปัฏฐาน ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องสติลำดับอื่นๆ ซึ่งสูงขึ้นไปอีก แต่ขอให้คิดถึงการเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้มั่นคง สำคัญที่สุด คือ ปัญญา ค่อยๆ สะสมความเห็นถูก เป็นสัจญาณ เพื่อที่จะได้ไม่หลงผิด เข้าใจผิด เพราะเหตุว่าขณะนี้ถ้ามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟัง แม้ในขั้นฟัง ก็จะทำให้เรารู้ว่า ไม่มีตัวตนที่จะไปขวนขวาย หรือจะไปทำอะไรเลย นอกจากความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นนั่นแหละ จะค่อยๆ คลายความไม่รู้ขั้นไม่เคยฟัง แต่ว่าความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ยังมีอยู่เต็ม เพราะว่าไม่ถึงขั้นที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ด้วยเหตุนี้ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องที่จะต้องไปทำอะไรเลยทั้งสิ้น แต่กำลังฟังแล้วให้เข้าใจ และขณะที่เข้าใจนั้น ปัญญาไม่ใช่เรา ให้มีความเข้าใจละเอียด จนกระทั่งว่า ทุกอย่างแม้ความเข้าใจก็ไม่ใช่เรา กุศลก็ไม่ใช่เรา อกุศลก็ไม่ใช่เรา แม้สติกำลังเกิด ฟังเรื่องของสติ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสติ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องมีความเข้าใจละเอียดขึ้น เพราะเหตุว่ากำลังนั่งเฉยๆ จะรู้ได้อย่างไรว่า สติเกิด หรือว่ามีสติ ไม่ว่าจะเป็นสติขั้นใด ถ้าเป็นสติปัฏฐาน คนนั้นมีความเข้าใจพอ ไม่ต้องถามใครเลย เพราะว่าลักษณะของสติกำลังรู้ที่สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แม้กำลังฟัง นี่เป็นขั้นสติปัฏฐาน แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นสติปัฏฐาน ก็ฟัง และเข้าใจว่า ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นมีทั้งศรัทธา มีทั้งสติ มีทั้งปัญญาด้วย โดยที่แม้ลักษณะทั้ง ๓ นั้น ก็ไม่ปรากฏ แต่ว่าในชีวิตประจำวัน เราไม่ได้มีแต่การที่ไม่แสดงออก เมื่อมีรูปร่างกาย ก็มีการกระทำทางกาย ทางวาจา ซึ่งแต่ละคนก็จะรู้ว่า การกระทำอย่างใดเป็นกุศล การกระทำอย่างใดเป็นอกุศล ต้องให้คนอื่นบอกไหมคะ หรือว่าจากการที่เราสะสมมา ก็พอจะรู้ได้ว่า สิ่งใดดี และสิ่งใดไม่ดี การฆ่าสัตว์ การเบียดเบียน ทำร้ายคนอื่น ด้วยกาย ไม่ดีแน่ ละเอียดขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง ด้วยวาจา ดีไหม ขณะนั้นก็แสดงว่าไม่มีสติ ไม่ใช่กุศลจิต เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่กว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ในขั้นของกาย วาจาบ้าง จนกว่าจะถึงแม้ไม่มีกายวาจา แต่ว่ากุศลจิต และอกุศลจิตก็เกิดได้ และขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติเกิดร่วมด้วย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 289


    หมายเลข 12183
    27 ม.ค. 2567