หนทางที่จะรู้จักสภาพธรรมที่เป็นความเห็นผิด


        สุ. ทั้งวันมีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยส่วนใหญ่ อาหารอร่อย ชอบรสนี้ กำลังรับประทานอร่อยมาก รสอร่อย รับประทานด้วยความเพลิดเพลินพอใจ ขณะนั้นมีความเห็นใดๆ หรือเปล่า หรือว่ามีความพอใจในรสนั้น

        ผู้ฟัง มีความพอใจในรสนั้น

        สุ. ค่ะ ต่างกับขณะที่มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่จะเป็นความพอใจในสิ่งที่มี แต่ว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ไม่ใช่ให้เราเอาความคิดไปแยก ไม่มีทางแยกออกได้เลย ที่จะกล่าวว่า ตรงนี้ ขณะนี้มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยไหม ตรงนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือเปล่า แต่ว่าความเห็นผิดที่เกิดเมื่อไหร่ จะรู้ได้เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏเป็นอารมณ์ แล้วมีความเห็นผิด ตัวความเห็นผิดปรากฏว่า มีความเห็นผิดว่า สิ่งนั้นเป็นเรา ขณะนั้นลักษณะของความเห็นผิดก็ปรากฏ

        เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราเรียนแล้วเราพยายามไปแยกด้วยตัวเอง ขณะนั้น ขณะนี้ แต่ว่าเกิดดับสลับเร็วมาก ยากที่จะรู้ได้ จนกว่าอาศัยการฟังเข้าใจ ทำให้มีสติสัมปชัญญะ ที่เริ่ม ใช้คำว่า “เริ่ม” ที่จะรู้ลักษณะ นั่นคือสติที่ต่างกับกายวิญญาณ กายวิญญาณรู้แข็ง ปกติ ธรรมดา ไม่ได้ใส่ใจ สนใจอะไรเลยทั้งสิ้น นอกจากหลังจากที่รู้แข็ง แล้วกำลังกระทบกับแว่นตา หรือเก้าอี้ หรือถ้วยจานชาม นั่นคือมีความคิดนึกเกิดสืบต่อเร็วมาก ไม่มีปัญญา และสติที่จะระลึก คือ รู้ลักษณะนั้นเฉพาะสิ่งนั้นที่เป็นอย่างนั้น แล้วค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างกับอย่างอื่น

        นี่คือความละเอียดของการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าประจักษ์เมื่อไร เป็นวิปัสสนาญาณ คือ ความเห็นแจ้ง เพราะปัญญาได้อบรมแล้ว จากการค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดเรื่องใดเลยทั้งสิ้น นอกจากเข้าใจธรรมขึ้น เข้าใจธรรมขึ้นเท่านั้นเองค่ะ เมื่อเข้าใจขึ้นแล้ว ไม่มีทางที่สติสัมปชัญญะจะไม่เกิด แต่ถ้าไม่เข้าใจ หรือรู้เพียงนิดหน่อย เพราะจำชื่อมา และจะให้สติสัมปชัญญะเกิด เป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะว่าเป็นปัญญาต่างขั้น ต้องมีปัญญาขั้นฟังปริยัติ แล้วก็เป็นปัจจัยให้ปฏิปัตติ คือ สติเกิดขึ้นด้วยความเป็นอนัตตา ถึงจะรู้ว่า สติไม่ใช่เรา สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่เรา ค่อยๆ เข้าใจความเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น

        ผู้ฟัง ความเข้าใจเป็นสิ่งที่ยาก ที่ว่าเราจะเข้าใจถูก หรือเข้าใจผิด ตรงนี้สำคัญมาก

        สุ. เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจึงต้องละเอียดรอบคอบ แล้วก็ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกของเราเอง ไม่ใช่เขาว่า เขาว่า เขาว่า แล้วเราก็ไม่รู้อะไรเลย ถูก หรือผิดก็ไม่รู้ อันนั้นก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่การฟังพระธรรม ถ้าฟังพระธรรมก็รู้ว่า สิ่งที่มีในขณะนี้เป็นธรรม พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมี มิฉะนั้นจะไปตรัสรู้อะไร พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเกี่ยวกับสิ่งที่มีทั้งสิ้นที่กำลังปรากฏ ให้ผู้ที่ไม่รู้ ค่อยๆ รู้ถูก เข้าใจถูกขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงว่า เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นอนัตตา

        ผู้ฟัง อย่างนั้นขณะที่เราฟัง แล้วฟังไปเรื่อยๆ แล้วมีความคิดนึกเกิดขึ้น ความคิดนึกก็เป็นธรรม

        สุ. ทุกอย่างเป็นธรรมค่ะ

        ผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วไม่รู้ นี่คือลักษณะของความคิดนึกอย่างนั้น หรือคะ

        สุ. นั่นเราไปนึกอีก

        ผู้ฟัง นั่นก็นึก เลยไปแล้ว

        สุ. ลักษณะนามธรรม คือ ไม่ใช่สภาพที่ไม่รู้อะไร มี ต้องเข้าถึงลักษณะนั้น ด้วยการฟังเข้าใจก่อน เข้าใจขึ้นๆ หรือแม้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็มี แล้วทำไมพระพุทธเจ้าทรงแสดงอะไรนักหนาเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่ไหมคะ ก็ธรรมดา ทำไมไม่แสดงสิ่งที่อัศจรรย์ ประหลาด ผิดปกติธรรมดา ถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่ตรง และไม่จริง และไม่ถูก เพราะว่าแม้สิ่งธรรมดาที่ปรากฏ ก็ยังไม่แสดงให้รู้เลย และจะไปแสดงอะไรให้ไปรู้สิ่งที่ยังไม่มี ยังไม่ได้ปรากฏ

        เพราะฉะนั้นความลึกซึ้งของธรรม ต้องรู้ว่า ผู้ไม่รู้ เห็นธรรมดา ไม่รู้อะไรเลย แต่ผู้รู้เริ่มเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ความรู้มากขึ้นคลายความไม่รู้ไปเรื่อยๆ และก็จะเข้าใจขณะที่หลงลืมสติ ต่างกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด

        นี่คือการอบรมเจริญปัญญา เป็นสติปัฏฐาน เป็นภาวนา ที่เป็นวิปัสสนาภาวนา แต่ขณะที่เริ่มฟัง ไม่ใช่วิปัสสนา ขณะที่กำลังไตร่ตรอง ไม่ใช่วิปัสสนา ขณะที่สติเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาต้องถึงการประจักษ์แจ้ง เป็นปฏิเวธ แทงตลอดตามลำดับ จนหมดความเห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด ถ้ายังเหลืออยู่ ก็เป็นพระโสดาบันไม่ได้ เพราะยังสงสัย ยังไม่รู้ แม้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ธรรมดามาก ฟังเรื่องสิ่งธรรมดา และเมื่อถึงขั้นที่จะรู้ ก็รู้สิ่งที่เป็นธรรมดานี่แหละ แต่ความรู้เพิ่มขึ้น ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เมื่อประจักษ์แจ้ง ก็ประจักษ์แจ้งสิ่งที่เป็นธรรมดาอย่างนี้แหละ ไม่ผิดปกติ จึงจะเป็นปัญญาจริงๆ ที่สามารถจะรู้จริงในสิ่งที่ปรากฏว่า สิ่งที่ปรากฏแท้ที่จริงแล้วเป็นอะไร เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญา ต้องฟังพระธรรมโดยละเอียด เพราะว่าทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง ๔๕ พรรษา เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด ไม่ให้เห็นผิด ไม่ให้คิดเอง ไม่ให้หลงทาง มีพระธรรมเป็นสรณะ คือ เป็นที่พึ่งจริงๆ เพราะว่าเข้าใจสิ่งที่ได้ทรงแสดง ถ้าไม่เข้าใจ จะมีพระธรรมเป็นสรณะได้ไหม ไม่ได้ ใช่ไหมคะ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 285


    หมายเลข 12159
    27 ม.ค. 2567