รู้สึกตัว


        ผู้ฟัง คำว่า “มีสติหลงลืม” หมายความว่า สติหายไปเลยหรืออย่างไรคะ

        สุ. ฟังสำนวนเหมือนอย่างนั้น แต่สติไม่เกิด

        ผู้ฟัง แล้วกับการที่ไม่รู้สึกตัวละคะ เหมือนกันไหมคะ

        สุ. ภาษาไทย “เขาฟื้นหรือยัง” “เขารู้สึกตัวหรือยัง” หมายความว่า เขาเห็นหรือยัง เขาคิดหรือยัง เขารู้ว่ามีอะไรปรากฏหรือยัง แต่ทางธรรม หมายถึงสติ สัมปชัญญะ คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มี ที่กำลังปรากฏ ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา

        ขณะนี้ความรู้สึกเกิดแล้ว รู้สึกตัวไหมคะว่า มีความรู้สึกนั้น

        ผู้ฟัง หมายความว่า รู้สึกตัวว่ากำลังนั่งฟังธรรมอยู่ ใช่ไหมคะ

        สุ. อันนี้ภาษาไทย รู้สึกตัว ที่ใช้กัน แต่ว่าที่รู้สึกตัว เป็นตัวจริงๆ หรือเปล่า นี่คือต้องอาศัยสติสัมปชัญญะที่ใช้คำว่า “รู้สึกตัว” หรือ “สติเกิด” ไม่หลงลืม เพราะว่ามีลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัว แล้วไม่เคยรู้สึกเลย ขณะนั้นสติเกิดรู้ จึงเหมือนกับว่า รู้สึก หรือรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่นในขณะนี้ทุกคนมีความรู้สึก รู้สึกตัวไหมคะว่า มีความรู้สึก ตามความเป็นจริงค่ะ อย่างความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ทุกขณะจิตต้องมีเวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพรู้สึกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าถามว่า ขณะนี้รู้สึกตัวไหมว่า มีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด ตอบตามความเป็นจริงว่า รู้สึกอย่างนั้นหรือเปล่าคะ ไม่ ก็แสดงว่า ขณะนั้นไม่ได้รู้สึกตัว ทั้งๆ ที่มีความรู้สึก ก็ไม่รู้สึกตรงตัวความรู้สึก ทั้งๆ ที่ความรู้สึกก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมี

        เพราะฉะนั้นรู้สึกตัวที่ต่างกับหลงลืมสติ หมายความถึงสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งรู้ลักษณะที่มีจริงๆ ขณะนั้น เพราะขณะนี้แม้มีสภาพธรรมนั้น เช่น จำ ก็กำลังจำ จำทุกอย่าง เห็นก็จำ คิดนึกก็จำ ได้ยินก็จำ รู้สึกตัวไหมคะว่ามีจำในขณะที่กำลังคิด รู้สึกตัวไหมคะ ไม่เลยค่ะ ไม่รู้ลักษณะว่า จำต้องมีแน่ในขณะนั้น จึงคิดเรื่องที่จำ

        เพราะฉะนั้นรู้สึกตัว ไม่ใช่เพียงรู้สึกตัวอย่างที่เราใช้กัน ฟื้นขึ้นมาก็รู้สึกตัว ไม่ใช่ แต่เมื่อธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัว รู้ความจริงในขณะนั้นด้วยสติที่กำลังรู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่ปรากฏให้รู้ จึงเป็นความหมายของไม่หลงลืมสติ และรู้สึกตัว

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 272


    หมายเลข 12079
    23 ม.ค. 2567