ปัญหาท้าวสักกะ ๒.. ชีวิตชาวสวรรค์บนสวรรค์


    เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทราบถึงชีวิตชาวสวรรค์บนสวรรค์บ้าง  ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เพื่อท่านจะได้ทราบว่า ถ้าท่านมีคุณธรรมที่ทำให้เกิดเป็นเทวดาแล้ว ท่านจะเป็นเทพเหมือนอย่างที่พระไตรปิฎกทรงแสดงไว้หรือไม่

    ข้อความในทีฆนิกาย มหาวรรค สักกปัญหสูตร ซึ่งเป็นตอนต้นเมื่อครั้งที่พระอินทร์จะมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วตรัสถามปัญหา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์เรื่องของความริษยา และความตระหนี่

    ข้อความในสักกปัญหสูตร ข้อ ๒๔๗ มีว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ -

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีน แห่งพระนครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ฯ

    ก็สมัยนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพได้บังเกิดความขวนขวาย เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงพระดำริว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงเห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดร แห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งพระนครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ

    ครั้นแล้ว จึงตรัสเรียกพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า

    ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ... ถ้ากระไร พวกเราควรจะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

    พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้ว ฯ

    ถ้าเป็นเทวดาที่สนใจในธรรมก็ย่อมขวนขวายที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อจะได้ฟังธรรมให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นในธรรม แต่ก็คงจะมีเทวดาอีกมากเหมือนกัน เหมือนในโลกมนุษย์ที่มีผู้ไม่สนใจฟังธรรมจำนวนมาก และไม่ได้ขวนขวายที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วย

    ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพตรัสเรียกปัญจสิขคันธรรพบุตรมาตรัสว่า

    ดูกรพ่อปัญจสิขะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ... พวกเราควรจะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

    ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้ว ถือเอาพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูม คอยตามเสด็จท้าวสักกะจอมเทพ

    ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพแวดล้อมไปด้วยพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีปัญจสิขคันธรรพบุตรนำเสด็จ ได้หายไปในชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏ ณ เวทิยกบรรพต ... เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่เหยียดออกเข้า ฉะนั้น ฯ

    ก็สมัยนั้น เวทิยกบรรพตและพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ สว่างไสวยิ่งนัก ด้วยเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย และได้ยินว่าพวกมนุษย์ในหมู่บ้านโดยรอบพากันกล่าวอย่างนี้ว่า วันนี้ไฟติดเวทิยกบรรพตเข้าแล้ว วันนี้ไฟไหม้เวทิยกบรรพต วันนี้เวทิยกบรรพตไฟลุกโพลง เพราะเหตุไรเล่า วันนี้ เวทิยกบรรพตและพราหมณคาม ชื่ออัมพสัณฑ์ จึงสว่างไสวยิ่งนัก มนุษย์พวกนั้นพากันตกใจ ขนพองสยองเกล้า ฯ

    สมัยนี้คงไม่มีโอกาสได้เห็นอย่างนี้แล้ว เพราะเหตุว่าย่อมไม่มีบรรดาเทวดาทั้งหลายมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงปรินิพพานแล้ว และถ้าเป็นบุคคลอื่น ก็ไม่ใช่บุคคลที่ควรจะมาพบ ไม่เหมือนกับการอุตส่าห์มาจากทางไกล คือ จากสวรรค์ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค

    ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งกะปัญจสิขคันธรรพบุตรว่า

    ดูกรพ่อปัญจสิขะ พระตถาคตทั้งหลาย เป็นผู้เพ่งฌาน ทรงยินดีในฌาน ในระหว่างนั้นทรงเร้นอยู่ อันผู้เช่นเรายากที่จะเข้าเฝ้า ถ้ากระไร พ่อควรจะให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระหฤทัยก่อน พ่อให้พระองค์ทรงพอพระหฤทัยก่อนแล้ว ภายหลัง พวกเราจึงควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ฯ

    ผู้เป็นเทพย่อมรู้กาละที่สมควรว่า เมื่อไรควรจะเฝ้า และเมื่อไรไม่ควรจะเฝ้า เพราะในขณะนั้นพระผู้มีพระภาคก็ทรงหลีกเร้นอยู่ คือ เป็นผู้ทรงยินดีในฌาน

    ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้ว จึงถือเอาพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูม เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ครั้นแล้วประมาณดูว่า เพียงนี้ พระผู้มีพระภาคจะประทับอยู่ไม่ไกล ไม่ใกล้เรานัก และจักทรงได้ยินเสียงเรา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ปัญจสิขคันธรรพบุตรยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วถือพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูมบรรเลงขึ้น และได้กล่าวคาถาเหล่านี้ อันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์ และกาม ว่า

    ถ้าท่านผู้ฟังจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทำเหมือนอย่างพวกเทวดานี้ไหมคะ หรือจะทำคนละอย่าง แต่สำหรับเทพ เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ เมื่อเห็นว่า ไม่ถึงเวลาอันควรที่จะเข้าไปเฝ้า ปัญจสิขคันธรรพบุตรก็ถือพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูมบรรเลงขึ้น และได้กล่าวคาถาเหล่านี้ อันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์ และกาม เพื่อให้พระองค์ตรัสธรรม หรือทรงแสดงธรรมกับปัญจสิกขคันธรรพบุตร ซึ่งข้อความที่ปัญจสิกขคันธรรพบุตรกล่าว แสดงให้เห็นถึงจิตของผู้ที่ยังมีความยินดีติดข้องในกาม พร้อมกันนั้นก็มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระอรหันต์ ซึ่งเป็นการแสดงถึงสภาพของจิตตามความเป็นจริงว่า ถ้าบุคคลใดยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถึงแม้จะมีศรัทธาในพระรัตนตรัยมากเพียงใดก็ตาม แต่ยังไม่ถึงปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ก็ยังมีทั้งกิเลสกามและศรัทธาในพระรัตนตรัยด้วย

    ข้อความที่ปัญจสิกขคันธรรพบุตรกล่าวคาถาพร้อมกับบรรเลงพิณ เป็นข้อความที่กล่าวถึงเทพธิดาชื่อ ภัททาสุริยวัจฉสา  ซึ่งเป็นที่รัก ที่ปรารถนาของปัญจสิกขคันธรรพบุตร แต่เป็นคาถาที่เทียบความยึดมั่นในกามของปัญจสิกขคันธรรพบุตรกับความมั่นคงในศรัทธาในพระรัตนตรัย ซึ่งปัญจสิกขคันธรรพบุตรกล่าวคาถาว่า

    ความต้องการและความปรารถนาที่ปัญจสิกขคันธรรพบุตรมีต่อเทพธิดา ชื่อ ภัททาสุริยวัจฉสา  เหมือนลมเป็นที่ปรารถนาของผู้มีเหงื่อ หรือน้ำดื่มเป็นที่ปรารถนาของผู้ระหาย และคล้ายกันกับธรรมเป็นที่รักของเหล่าพระอรหันต์ฉะนั้น

    นี่เป็นการเทียบกันระหว่างธรรมเป็นที่รักของพระอรหันต์ผู้หมดกิเลส ย่อมเป็นธรรมที่มั่นคงมาก เพราะพระอรหันต์ย่อมไม่มีศรัทธาที่มั่นคงในธรรมอื่น  นอกจากธรรมที่ดับกิเลสและพระรัตนตรัย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังมีความปรารถนาในกามอยู่ มีความรู้สึกเหมือนธรรมเป็นที่รักของเหล่าพระอรหันต์ ฉันใด เทพธิดาภัททาสุริยวัจฉสา  ก็เป็นที่ปรารถนาของปัญจสิกขคันธรรพบุตร ฉันนั้น

    นี่เป็นเรื่องของจิตใจของผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ปัญจสิกขคันธรรพบุตรกล่าวว่า

    ไม่อาจกลับดวงจิตที่แปรปรวนไปแล้ว เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดเสียแล้ว

    ท่านผู้ฟังจะพบข้อความมากทีเดียวในพระไตรปิฎก ซึ่งแสดงถึงสภาพที่แท้จริงของจิต เพราะเหตุว่าผู้ใดก็ตามที่เกิดความยินดี พอใจในรูป ธรรมดาปกติทางตาที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรี หรือเสียงอะไรก็ตาม ในกลิ่นหอม ในรสอร่อย ในสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่สบาย ที่กระทบกาย ขณะนั้นทรงแสดงว่า เหมือนปลาที่ติดเบ็ด เพราะเหตุว่ากามทั้งหลายย่อมมีโทษ แต่ปลาทั้งหลายก็กินเบ็ด กินเหยื่อที่เบ็ด ซึ่งย่อมเป็นโทษสำหรับปลา

    เพราะฉะนั้น สำหรับปัญจสิกขคันธรรพบุตรก็ได้กล่าวคาถาว่า

    ไม่อาจกลับดวงจิตที่แปรปรวนไปแล้ว เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดเสียแล้ว

    นี่เป็นข้อความโดยย่อ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะต้องการคาถาเพลงชับของปัญจสิกขคันธรรพบุตรโดยตลอด จะอ่านได้เองในสักกปัญหสูตร ในทีฆนิกาย มหาวรรค แต่จะกล่าวถึงข้อความบางประการที่เป็นการเทียบการติดในกาม สำหรับผู้ยังไม่ได้ดับกิเลส กับความมั่นคงในพระรัตนตรัยสำหรับผู้ดับกิเลสแล้ว

    ปัญจสิกขคันธรรพบุตรกล่าวว่า

    ความใคร่ของฉันในเธอผู้มีผมเป็นลูกคลื่น ถึงจะมีน้อยก็เกิดผลมาก เหมือนทักษิณาที่ถวายในพระอรหันต์ ฉะนั้น

    ความปรารถนาของปัญจสิกขคันธรรพบุตร ก็คือ

    ขอบุญอันนั้นของฉัน จงอำนวยผลแก่ฉัน พร้อมกับด้วยเธอสุริยวัจฉสาด้วย และกล่าวว่า ความปรารถนาของตนนั้นเหมือนพระศากยบุตรพุทธเจ้า ทรงเข้าฌานอยู่พระองค์เดียว

    ในขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงอยู่พระองค์เดียว

    มีพระปัญญารักษาพระองค์

    ไม่สนใจเรื่องอื่นเลย ฉันใด

    ทรงมีพระสติ เป็นมุนี ทรงแสวงหาอมตะ พระผู้จอมปราชญ์ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุดแล้ว พึงชื่นชม คือ ชื่นชมพระโพธิญาณ ฉันใด ปัญจสิกขคันธรรพบุตรก็ชื่นชมในสุริยวัจฉสา ฉันนั้น

    เปรียบเทียบถึงอย่างนั้นสำหรับผู้ยังมีกิเลสอยู่ ไม่สามารถจะเปรียบเทียบอะไรได้ยิ่งกว่านั้น แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาในภัททาสุริยวัจฉสา  อย่างมั่นคงถึงเพียงนั้น

    ข้อ ๒๔๙  เมื่อปัญจสิขคันธรรพบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะปัญจสิขคันธรรพบุตรว่า

    ดูกรปัญจสิขะ เสียงสายของท่านเทียบได้กับเสียงเพลงขับ และเสียงเพลงขับของท่านเทียบได้กับเสียงสาย ก็เสียงสายของท่าน ไม่เกินเสียงเพลงขับ และเสียงเพลงขับ ไม่เกินเสียงสาย

    ต้องเพราะยิ่งกว่าดนตรีใดๆในโลกมนุษย์ พร้อมทั้งเสียงของปัญจสิกขคันธรรพบุตรก็เป็นเสียงสวรรค์ด้วย ไม่ใช่เสียงมนุษย์ในโลกนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ก็คาถาเหล่านี้อันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์และกาม ท่านประพันธ์ขึ้นเมื่อไร ฯ

    ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประพันธ์ขึ้นเมื่อสมัยที่พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ใต้ต้นไม้อชปาลนิโครธ แทบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีโอกาสจะได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน และเป็นผู้ที่ระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ก็จะทราบว่า ณ สถานที่แห่งนั้นมีอะไรที่เคยเกิดขึ้นในระหว่างที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงพระดำริว่า ปัญจสิขคันธรรพบุตรได้ปราศรัยกับพรัยกับพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคก็ทรงปราศรัยกับปัญจสิขคันธรรพบุตร ดังนี้แล้ว ตรัสเรียกปัญจสิขคันธรรพบุตรมาตรัสว่า

    พ่อปัญจสิขะ พ่อจงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพ พร้อมด้วยอำมาตย์และบริษัท ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า

    ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์และบริษัท ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปัญจสิขะ ท้าวสักกะจอมเทพ พร้อมด้วยอำมาตย์และบริษัท จงมีความสุขอย่างนั้นเถิด เพราะว่าพวกเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และชนเป็นอันมากเหล่าอื่นใด ซึ่งปรารถนาสุขมีอยู่ ฯ

    นี่คือทรงอนุญาตให้ท้าวสักกะเข้าเฝ้า เพราะตรัสว่า ท้าวสักกะจอมเทพ พร้อมด้วยอำมาตย์และบริษัท จงมีความสุขอย่างนั้นเถิด

    ก็พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสประทานพรเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่เห็นปานนั้นอย่างนี้แล ท้าวสักกะจอมเทพ อันพระผู้มีพระภาคตรัสประทานพรแล้ว เสด็จเข้าไปยังถ้ำอินทสาละของพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แม้พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ก็เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ถึงปัญจสิขคันธรรพบุตร ก็เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    สมัยนั้น ถ้ำอินทสาละ ซึ่งมีพื้นไม่สม่ำเสมอก็สม่ำเสมอ ซึ่งคับแคบ ก็กว้างขวางขึ้น ความมืดในถ้ำหายไป ความสว่างเกิดขึ้น ด้วยเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ฯ

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทพว่า นี้เป็นของน่าอัศจรรย์ของท่านท้าวโกสีย์ นี้เป็นเหตุไม่เคยมีของท่านท้าวโกสีย์ คือ การที่พระองค์ผู้มีกิจมาก มีกรณียะมากเสด็จมาในที่นี้ ฯ

    ไม่ได้มาเฝ้าบ่อย เพราะว่าเป็นเทพก็ย่อมมีชีวิตอย่างเทพ เป็นเหตุที่ไม่เคยมีมาก่อน สำหรับพระอินทร์ที่จะมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค

    ซึ่งตอนจบของพระสูตรนี้ ท่านผู้ฟังจะได้ทราบผลจากการที่พระอินทร์เสด็จมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคในครั้งนี้ คือ พระองค์บรรลุคุณธรรมเป้นพระโสดาบันบุคคล จากการเฝ้าพระผู้มีพระภาคในครั้งนี้

    ท้าวสักกะจอมเทพทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะมาเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคตั้งแต่นานมาแล้ว แต่มัวสาละวนด้วยกิจกรณียะบางอย่างของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงมิสามารถมาเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคได้

    เมื่อยังไม่ถึงกาลสมควรที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ย่อมยังคงหมกมุ่นอยู่กับกรณียกิจของพวกเทวดา แต่เมื่อมีโอกาสจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็มีเหตุที่ทำให้ท้าวสักกะใคร่มาเฝ้าและกราบทูลถามปัญหา

    ท้าวสักกะทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สลฬาคาร ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ข้าพระองค์ได้ไปยังพระนครสาวัตถี เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ด้วยสมาธิบางอย่าง นางปริจาริกาของ

    ท้าวเวสวัณมหาราช นามว่า ภุชคี เป็นผู้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค นางยืนประนมมือนมัสการอยู่ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะนางภุชคีว่า ดูกรน้องหญิง ขอท่านจงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำขอของเราว่า ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วย

    ข้าพระองค์จึงสั่งไว้ว่า ดูกรน้องหญิง ถ้าอย่างนั้นเมื่อใด พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธิแล้ว เมื่อนั้น ท่านจงกราบบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ท้าวสักกะจอมเทพ พร้อมด้วยอำมาตย์และบริษัท ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า

    ไม่ใช่ไม่เคยมาเฝ้า เคยมาเฝ้าแล้วครั้งหนึ่ง และได้ขอถวายบังคม คือขอเฝ้าด้วย แต่ว่านางภุชคีได้ตอบข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ มิใช่เวลาที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นเสียแล้ว ข้าพระองค์จึงสั่งไว้ว่า ดูกรน้องหญิง ถ้าอย่างนั้นเมื่อใดพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธิแล้ว เมื่อนั้นท่านจงกราบบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ท้าวสักกะจอมเทพ พร้อมด้วยอำมาตย์และบริษัท ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้องหญิงนั้น ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำของข้าพระองค์แลหรือ พระผู้มีพระภาคยังทรงระลึกถึงคำของน้องหญิงนั้นได้อยู่หรือ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรจอมเทพ น้องหญิงนั้น ไหว้อาตมภาพแล้ว อาตมภาพระลึกได้ถึงคำของน้องหญิงนั้น และอาตมภาพออกจากสมาธิ เพราะเสียงกงรถของพระองค์ ฯ

    ท้าวสักกะจอมเทพทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาเหล่าใดที่เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ก่อนพวกข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ยินมา ได้รับมาต่อหน้าเทวดาเหล่านั้นว่า เมื่อใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติในโลก เมื่อนั้น ทิพยกายย่อมบริบูรณ์ อสุรกายย่อมเสื่อมไป ข้อนี้ข้าพระองค์ได้เห็นพยานแล้วว่า เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลก ทิพยกายย่อมบริบูรณ์ อสุรกายย่อมเสื่อมไป ฯ

    เพราะเหตุว่าเมื่อทรงแสดงธรรมแล้ว ก็ย่อมมีผู้บรรลุมรรคผล และด้วยผลของกุศลที่ได้ทำแล้ว ก็ทำให้เกิดในสวรรค์มากกว่าเกิดในภูมิอื่น

    ท้าวสักกะกราบทูลต่อไปว่า

    ในเมืองกบิลพัสดุ์ นี้เอง

    คือท้าวสักกะเองได้เห็นเป็นพยานว่า เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลก ทิพยกายย่อมบริบูรณ์ คือ ผู้เกิดในสวรรค์ย่อมมีมาก อสุรกายย่อมเสื่อมไป ฯ และได้กราบทูลว่า

    ในเมืองกบิลพัสดุ์นี้เอง ได้มีศากยธิดานามว่า โคปิกา เป็นคนเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บำเพ็ญศีลบริบูรณ์ นางคลายจิตในความเป็นสตรี อบรมจิตในความเป็นบุรุษ เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถึงความอยู่ร่วมกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถึงความเป็นบุตรของข้าพระองค์ พวกเทวดาในดาวดึงส์นั้น รู้จักเธออย่างนี้ว่า โคปกเทวบุตรๆ

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุอื่นสามรูป ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เข้าถึงหมู่คนธรรพ์อันต่ำ คนธรรพ์พวกนั้นเพียบพร้อมไปด้วยกามคุณ ๕ บำเรออยู่ มา สู่ที่บำรุงบำเรอของข้าพระองค์ โคปกเทวบุตรได้ตักเตือนคนธรรพ์พวกนั้นผู้มาสู่ที่บำรุงบำเรอของข้าพระองค์ว่า

    ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ เอาหน้าไปไว้ที่ไหน พวกท่านรวบรวมพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นไว้ เราเป็นแต่สตรี เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บำเพ็ญศีลบริบูรณ์ คลายจิตในความเป็นสตรี อบรมจิตในความเป็นบุรุษ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถึงความอยู่ร่วมกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถึงความเป็นบุตรของท้าวสักกะจอมเทพ แม้ในที่นี้ พวกเทวดารู้จักเราว่า โคปกเทวบุตรๆ ส่วนพวกท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเข้าถึงหมู่คนธรรพ์อันต่ำ พวกเราได้เห็นสหธรรมิกที่เข้าถึงหมู่คนธรรพ์อันต่ำ นับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดูแล้ว

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคนธรรพ์พวกนั้นถูกโคปกเทวบุตรตักเตือนแล้ว เทวดาสององค์กลับได้สติในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงกายอันเป็นชั้นพรหมปุโรหิต ส่วนเทวดาองค์หนึ่งคงตกอยู่ในกามภพ ฯ

    ท้าวสักกะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ทรงเห็นเทวดาเหล่านั้นในท่ามกลางหมู่เทวดาแล้ว ได้ทรงสลดพระทัยว่า ก็เทวดาเหล่านี้เข้าถึงกายอันต่ำ บัดนี้ กลับก้าวล่วงพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เมื่อท้าวสักกะเกิดสลดพระทัยเพราะทรงพิจารณาเทวดาเหล่านั้น โคปกเทวบุตรได้ทูลท้าววาสภะว่า   

    พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมชนมีอยู่ในมนุษยโลกทรงครอบงำกามเสียได้ ปรากฏพระนามว่า พระศากยมุนี เทวดาพวกนั้นเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้เว้นจากสติแล้ว อันข้าพระองค์ตักเตือน กลับได้สติ บรรดาท่านทั้ง ๓ นั้น ท่านผู้หนึ่ง คงเข้าถึงกายคนธรรพ์อยู่ในภพนี้ อีก ๒ ท่านดำเนินตามทางตรัสรู้ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว จะเย้ยพวกเทวดาก็ได้  การประกาศธรรมในพระวินัยนี้ เป็นเช่นนี้ บรรดาพระสาวกมิได้มีสาวกรูปไรสงสัยอะไรเลย เราทั้งหลายขอนอบน้อมพระชินพุทธเจ้าผู้เป็นจอมชน ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ทรงตัดความสงสัยได้แล้ว บรรดาคนธรรพ์ทั้ง ๓ นั้น คนธรรพ์ ๒ คนนั้น รู้ธรรมอันใดของพระองค์แล้ว ถึงความเป็นผู้วิเศษ เข้าถึงกายอันเป็นชั้นพรหมปุโรหิต บรรลุคุณวิเศษแล้ว

    ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอประทานพระวโรกาส ถึงพวกข้าพระองค์ก็มาเพื่อบรรลุธรรมนั้น หากพระองค์ทรงกระทำโอกาสแล้ว จะขอทูลถามปัญหา ฯ

    เพราะความสลดใจเรื่องภิกษุ ๓ รูป ทำให้ท้าวสักกะมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อทูลถามปัญหาที่ยังไม่แจ่มแจ้งนักสำหรับพระองค์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ท้าวสักกะนี้เป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเวลานาน จักตรัสถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งกะเรา ท้าวเธอจักถามปัญหานั้นทุกข้อ ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่ถามปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

    อนึ่ง เราอันท้าวเธอตรัสถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความใด ท้าวเธอจักทรงทราบข้อความนั้นได้พลันทีเดียว ฯ

    ถ้าเป็นคนอื่นก็ไม่ทราบว่า คนที่มาถามจะสามารถเข้าใจคำที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์มากน้อยแค่ไหน แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ท้าวสักกะเป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเวลานาน หมายความว่า เป็นผู้ที่เคยอบรมบารมีมา เมื่อตรัสถามและพระองค์ทรงพยากรณ์ข้อความใด ก็สามารถเข้าใจข้อความนั้นทันที

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทพด้วยพระคาถาว่า

    ดูกรท้าววาสพ พระองค์ปรารถนาไว้ในพระทัย เพื่อจะตรัสถามปัญหาข้อไร ก็จงตรัสถามปัญหาข้อนั้นกะอาตมภาพเถิด อาตมภาพจะกระทำที่สุดแห่งปัญหานั้นๆ แก่พระองค์ ฯ

    ซึ่งท้าวสักกะก็ได้ทูลถามเรื่องธรรมเป็นเครื่องผูกพันใจของพวกเทวดา ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า ธรรมที่เป็นเครื่องผูกพันใจของพวกเทพไว้ ก็คือความริษยาและความตระหนี่ และนอกจากนั้นท้าวสักกะก็ได้ทูลถามปัญหาอีกหลายข้อทีเดียว ซึ่งท่านผู้ฟังจะอ่านความละเอียดได้จากสักกปัณหสูตร

    ตอนท้ายของสูตรนี้ท้าวสักกะกราบทูลว่า

    ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด ยังมีความสงสัยเคลือบแคลง เที่ยวเสาะแสวงหาพระตถาคตอยู่ตลอดกาลนาน

    ข้าพระองค์สำคัญสมณะเหล่าใด ซึ่งเป็นผู้มีปรกติอยู่เงียบสงัด เข้าใจว่าเป็นพระสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปหาสมณะเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นถูกข้าพระองค์ถามว่า สมบัติเป็นอย่างไร วิบัติเป็นอย่างไร ก็หาชี้แจงในมรรคและข้อปฏิบัติไม่ ในเวลาที่ท่านเหล่านั้นรู้ข้าพระองค์ว่า เป็นสักกะมาจากเทวโลก จึงถามข้าพระองค์ทีเดียวว่า ท่านทำอะไรจึงได้ลุถึงฐานะนี้

    ข้าพระองค์จึงแสดงธรรมตามที่ฟังมาแก่ท่านเหล่านั้น ให้ปรากฏในหมู่ชน ท่านเหล่านั้นมีความพอใจด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า  พวกเราได้เห็นท้าววาสวะแล้ว

    นี่คือการเสาะแสวงหาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของท้าวสักกะว่า ได้ทรงเสาะแสวงหามานานทีเดียว แล้วทรงเห็นว่า สมณะใดมีปกติอยู่เงียบสงัด ก็เข้าไปหา เพราะเข้าใจว่า คงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาที่สมณะเหล่านั้นถูกท้าวสักกะถามว่า สมบัติเป็นอย่างไร วิบัติเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้ชี้แจงมรรคและข้อปฏิบัติ แต่พอรู้ว่า พระองค์เป็นท้าวสักกะ ก็กลับถามพระองค์ว่า เพราะทำกรรมอะไรจึงได้เป็นท้าวสักกะ เมื่อท้าวสักกะได้ทรงแสดงธรรมที่ทำให้เป็นท้าวสักกะ สมณะเหล่านั้นก็มีความพอใจด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า พวกเราได้เห็นท้าวสักกะแล้ว

    ท้าวสักกะกราบทูลว่า

    ข้าพระองค์ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ผู้ข้ามความสงสัยได้แล้ว ในเวลานั้นข้าพระองค์เป็นผู้ปราศจากความกลัว วันนี้ได้เข้ามานั่งใกล้พระสัมพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระพุทธเจ้า ผู้ทรงกำจัดเสียได้ซึ่งลูกศรคือตัณหา ซึ่งหาบุคคลเปรียบมิได้ เป็นมหาวีระ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์

    ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์กับพวกเทวดากระทำความนอบน้อมอันใดแก่พรหม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์ขอถวายความนอบน้อมนั้นแด่พระองค์ ข้าพระองค์ขอทำความนอบน้อมแด่พระองค์ด้วยตนเอง พระองค์ผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้พระนิพพาน  พระองค์เป็นศาสดาอย่างยอดเยี่ยมในโลกกับทั้งเทวโลก จะหาบุคคลเปรียบพระองค์มิได้ ฯ

    โดยมากก่อนจะศรัทธาอย่างมั่นคงในพระรัตนตรัย ท่านผู้ฟังหลายท่านก็คงจะติดในเทพ และพรหมอื่นๆ บูชาสักการะเทพและพรหมเหล่านั้น แต่สำหรับท้าวสักกะกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าพระองค์กับพวกเทวดากระทำความนอบน้อมอันใดแก่พรหม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์ขอถวายความนอบน้อมนั้นแด่พระองค์  

    ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้มีว่า

    ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่

    คือในขณะที่ทรงแสดงธรรม

    ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน บังเกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

    ในขณะนี้เอง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ได้รู้ผิดไปจากสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย

    สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา

    ดับแล้ว เกิดอีก ดับอีก ตลอดเวลาในขณะนี้ แต่ยังไม่เป็นธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อบรมปัญญาที่จะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่

    และบังเกิดขึ้นแก่เทวดาแปดหมื่นพวกอื่น ปัญหาที่เชื้อเชิญให้ถามที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว ด้วยประการดังนี้ เพราะฉะนั้น คำว่าสักกปัญหา จึงเป็นชื่อของไวยากรณ์ภาษิตนี้ ฉะนี้แล ฯ

    จบ สักกปัณหสูตรที่ ๘

    เรื่องธรรมธรรมดาที่ท่านผู้ฟังก็มีโอกาสได้ฟังเหมือนกับที่ท้าวสักกะได้รับฟังเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคจากพระโอษฐ์ของพระองค์ แต่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้ว ในขณะนั้นเอง เป็นปกติอย่างนั้น ปัญญาสามารถแทงตลอดสภาพธรรมที่เกิดดับ รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่อย่าลืมว่า ต้องอบรมมานานมาก

    เพราะฉะนั้น ก็ปกติธรรมดาอย่างนี้ กำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง หรือกำลังเห็น กำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ


    หมายเลข 1138
    8 ส.ค. 2558