ขณะไหนเป็นกุศลหรือว่าขณะไหนเป็นอกุศล


        อ.กุลวิไล เรียนถามท่านอาจารย์ว่ากิเลสที่เกิดขึ้นสามารถละคลายได้ เพราะว่าเมื่อกุศลจิตเกิดขึ้น และสามารถเป็นเครื่องกั้นประแสของอกุศลธรรมได้ในขณะนั้น และนอกจากนั้นก็ยังสามารถที่จะละอกุศลที่นอนเนื่องได้

        สุ. การฟังธรรมนี่คงจะไม่ต้องรีบร้อน แต่ว่าฟังเพื่อให้เข้าใจขึ้นในธรรมที่มีจริงๆ และกำลังปรากฏ และก็ชื่อทั้งหลาย ผู้ที่เพิ่งเริ่มฟังก็อาจจะคิดว่าได้ยินหลายชื่อเลยวันนี้ และก็อาจจะซ้ำไปซ้ำมาแต่ก็ยังไม่เข้าใจชัดเจน นี่เป็นความจริงเพราะเหตุว่าทุกคนมีจิต แต่ว่าจิตเป็นสิ่งที่รู้ยากมากไม่ว่าจะพูดถึงจิตโดยนัยต่างๆ กุศล อกุศลซึ่งเป็นเหตุ วิบากเป็นผล กิริยาก็เป็นจิตที่ไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผลคือเป็นเรื่องที่เราได้ยินได้ฟัง แต่ว่าลักษณะของจิตที่กำลังเป็นอย่างนั้นแต่ละขณะยากแก่การที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำภาษาบาลีก็ต้องเข้าใจความหมายในภาษาไทยที่เราใช้อยู่ เช่นจิตดีกับจิตไม่ดี เข้าใจได้ในภาษาไทย ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็นภาษาบาลี จิตที่ไม่ดีก็เป็นอกุศล จิตที่ดีก็เป็นกุศลๆ ก็มีความหมายหลายอย่างที่ท่านแสดงโดยการที่ว่าขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิดอุปมายังไงก็ตามแต่ แต่ขณะนี้ลักษณะของจิตก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แม้ว่าจะได้ยินคำอุปมาอย่างไรก็ตาม จะทำให้สามารถเข้าใจจิตในขณะนี้ได้ หรือยัง เดี๋ยวนี้เองว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยการฟังละเอียด และก็การไตร่ตรอง การพิจารณาด้วย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม เราจะไม่รู้เลยว่าทำไมจิตเห็นจึงไม่ใช่กุศล และอกุศล และก็จะไม่รู้ด้วยว่าเมื่อจิตเห็น หรือจิตได้ยินเหล่านี้ดับไปแล้ว กุศลจิต หรืออกุศลจิตต้องเกิดในสิ่งที่กำลังปรากฏที่จิตกำลังรู้ ไม่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ชั่วขณะที่สิ่งนั้นเกิดขึ้น และยังไม่ดับไป จิตเห็นแล้วก็จริง ก็ยังมีกุศล หรืออกุศลเกิดต่อ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่าจิตเกิดดับเร็วมาก ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้องในสภาพที่ต่างกันของจิตก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจ แต่ว่ายังคงไม่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เพียงแต่รู้ว่านี่เป็นเรื่องจิต และเป็นเรื่องของเจตสิก และก็เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นจะรู้ได้ยังไง ไม่ใช่โดยชื่อว่าขณะไหนเป็นกุศล หรือว่าขณะไหนเป็นอกุศล ถ้าโดยชื่อ โดยเรื่องเราอ่าน และเราก็เข้าใจความหมายโวหารนั้นว่ากุศลเป็นยังไง อกุศลเป็นยังไง แต่ขณะนี้สามารถที่จะเข้าใจได้ไหมว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก และเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่ยากที่จะรู้ได้ แต่พอจะค่อยๆ รู้ใช่ไหม เช่น เวลาที่เห็นแล้วชอบ รู้ไหมว่าชอบ รู้ แล้วเวลาเห็นแล้วไม่ชอบ รู้ไหมว่าไม่ชอบในสิ่งที่เห็น นี่คือแสดงให้เห็นว่าชอบ ติดข้องในสิ่งที่เห็นจะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล นี่ต้องไตร่ตรอง เวลาที่เราชอบ เราไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เดือดร้อน และก็จะบอกว่าเป็นอกุศลก็ยากใช่ไหม ไม่ได้เดือดร้อนเลย เพราะฉะนั้นสำหรับความติดข้องก็จะเห็นยากว่าเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ติดข้อง แต่ลองเปรียบเทียบ ถ้าไม่ติดข้อง ลองคิดดู ไม่ติดข้องเลย ไม่ว่าอะไรจะปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เหมือนหยดน้ำที่หยดลงไปที่ใบบัวกลิ้งหายไปเลย ไม่ได้ติดค้างอยู่ที่ใบบัวฉันใด ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เห็นที่จะไม่ให้ติดข้องเป็นไปไม่ได้เพราะทันทีที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏด้วยความไม่รู้ ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ยินดีพอใจติดข้องแล้ว ซึ่งจากการฟังพอจะค่อยๆ มองเห็นว่าแม้การติดข้องก็เป็นอกุศลประเภทหนึ่ง สำหรับธรรมที่เป็นกุศลที่ตรงกันข้ามกับความติดข้อง วันหนึ่งๆ พอจะรู้ไหม ด้วยตัวเองหลังจากที่ได้ฟังธรรม ถ้าขณะนั้นเป็นจิตใจที่ดีงาม มีความเป็นมิตร มีความเห็นใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ลักษณะอย่างนั้นไม่ใช่ลักษณะที่ติดข้องในความเป็นตัวตน หรือในความเป็นเรา เพราะว่าบางคนเพื่อนน้อยเพราะคิดถึงตัวเองมากใช่ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเรามีความติดข้องในตัวเรา หรือว่าในความเป็นตัวตน ในความไม่รู้ เราจะทำสิ่งที่ดีงามได้มากไหม หรือว่าทำได้เล็กน้อยนิดหน่อย หรือว่าอาจจะทำได้เพียงบางสิ่งบางอย่าง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความต่างกันของจิตที่เป็นกุศล และจิตที่เป็นอกุศลคือสภาพธรรมที่ตรงกันข้าม โลภะเป็นความติดข้อง แล้วสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลต้องเป็นอโลภะ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งมีจริงเป็นความไม่ติดข้อง ค่อยๆ สังเกตชีวิตของเราแต่ละวันว่าขณะนั้นเรามีความติดข้องไหม ก็ต้องตรงตามความเป็นจริง เห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ เป็นผู้ตรง ติดข้องไหม ติดข้องเป็นอกุศล ถ้าสามารถสละทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้คนอื่น ขณะนั้นติดข้อง หรือเปล่า ก็แสดงว่าขณะนั้นเป็นกุศล เพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมซึ่งต่างกันเป็นกุศล และอกุศล แต่เกิดดับสลับเร็วมาก ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา ค่อยๆ ไตร่ตรอง ขุ่นใจบ้างไหมวันนี้ บางคนอาจจะบอกว่าหลายครั้ง ขณะนั้นดีไหม ไม่ดีเลย ใครก็ไม่ชอบทั้งนั้นเลย ลักษณะที่เป็นความเร่าร้อน เป็นความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นอกุศลแน่นอน ไม่ได้นำประโยชน์อะไรมาให้เลย แต่ถ้าคิดได้ หรือว่ามีการสะสมมาสามารถที่จะระลึกได้ในขณะนั้นว่ามีประโยชน์กับใคร กับเราเอง เริ่มจากตัวของบุคคลที่มีโทสะ ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น สะสมสืบต่อไปอีกไม่มีวันจบ และความขุ่นใจก็อาจจะเป็นอุปนิสัยที่จะมีกำลังเพิ่มขึ้นได้ถ้าไม่เข้าใจธรรม

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226


    หมายเลข 11158
    20 ม.ค. 2567