ประโยชน์อยู่ที่ไหน


        บางคนก็อาจจะเห็นว่าโทสะแรงมาก สามารถที่จะทำสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ และก็เป็นโทษหนักด้วย แต่ว่าผู้ที่สะสมโทสะมาก็ไม่เห็นโทษของโทสะ เพราะฉะนั้นเวลาที่โทสะเกิดจะมาก หรือจะน้อยก็ตาม ขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นจิตที่ดีคืออโทสะ ยากไหม อโทสะ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังซึ่งเป็นชื่อต่างๆ ของจิตประเภทต่างๆ ความจริงก็เป็นธรรมในชีวิตประจำวันซึ่งอกุศลต้องเป็นอกุศล และก็กุศลก็ตรงกันข้ามกับอกุศล อย่างเมื่อวานนี้ก็มีคำถามที่มีผู้ถามว่าสามีไม่ดีต่างๆ และก็ไม่ดูแลลูก ก็ยังคงมีปัญหาอีกเยอะแยะ ขณะนั้นถ้าคิดจริงๆ ขณะที่คิดอย่างนั้นจิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แม้แต่ความคิดเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย มีการคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น ประโยชน์อยู่ที่ไหน ประโยชน์กับสามีก็ไม่มีเลยในขณะที่เรากำลังคิดถึงความไม่ดีของสามี และประโยชน์กับตัวเองขณะนั้นก็ไม่สบายใจสะสมไปด้วยความไม่รู้โดยการยึดถือเหมือนกับว่าจะต้องเป็นสามีกันไปทุกชาติ แต่ความจริงไม่ใช่เลย เพียงชาติเดียว และก็อาจจะไม่นานด้วยสำหรับแต่ละชีวิต เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งซึ่งเราจะเห็นได้ว่าถ้ามีปัญญาเกิดขึ้น หรือมีความเข้าใจเกิดขึ้นระหว่างโทสะกับเมตตา ความโกรธกับความไม่โกรธ อย่างไหนมีประโยชน์กับใคร กับตัวเองนี่แน่นอนใช่ไหม ถ้าเทียบว่าขณะนั้นไม่ดีเลย เป็นจิตที่ไม่ดีจะทำให้กาย วาจาไม่ดี ทุกอย่างไม่ดีต่อไปอีกมากทีเดียว ก็จะเห็นได้ว่าถ้าเมตตาซึ่งตรงกันข้ามซึ่งเป็นสิ่งที่สะสมได้ มีความเป็นมิตร มีความเข้าใจ มีความเห็นใจว่าแต่ละคนก็ไม่สามารถที่จะมีใครไปเปลี่ยนแปลงการสะสมได้ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระธรรมตามความเป็นจริงโดยละเอียดมาก มายที่แม้แต่ว่าขณะนั้นแต่ละชีวิตที่ต่างกันไปเพราะกรรมต่างกัน ซึ่งบางคนก็จะเห็นได้ว่าการศึกษาชีวิตก็พิจารณาชีวิตของตัวเอง หรือบุคคลใกล้ชิด หรือชีวิตต่างๆ ที่ได้ยินก็จะเห็นความหลากหลาย บางคนเป็นคนสวยมาก และก็ดีมากแต่สามีก็ไม่รัก เป็นไปได้ยังไง ลองคิดดู ถ้าไม่มีเหตุที่จะให้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นทุกอย่างมีเหตุที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นไปในแต่ละชีวิตที่ต่างกัน แต่ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ถึงสภาพของจิต และก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร ถ้าเป็นอกุศลเกิดขึ้นรู้ได้ เปลี่ยนได้ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นเหตุให้เกิดกุศลแทนอกุศล ระหว่างโกรธกับเมตตาคนอื่น อย่างไหนจะดีกว่ากัน โกรธเขาก็ว่าเขา ก็คิดร้ายต่อเขา ทำอะไรต่างๆ แต่ถ้าเมตตาตรงกันข้ามเลย เริ่มจากเห็นใจ เข้าใจ กายดี วาจาดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเกื้อกูล นี่คือประโยชน์ของพระธรรม แต่ต้องเข้าใจสภาพธรรมไม่ใช่เพียงแต่ชื่อ เพราะฉะนั้นก็มีสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกัน โลภะกับอโลภะ โทสะกับอโทสะ โมหะกับปัญญา นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งสามารถที่จะค่อยๆ พิจารณาค่อยๆ อบรมเป็นความรู้ขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่าไม่มีเราเลย มีแต่สภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย ถ้าดับเหตุปัจจัยหมด พระโสดาบันบุคคลไม่มีความเห็นผิดเลย พระสกทาคามีแม้ว่าจะมีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เบาบาง พระอนาคามีแม้เห็นแม้ได้ยินก็ไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส ฏผฏฐัพพะ พระอรหันต์ไม่มีกิเลสใดๆ เลยทั้งสิ้น ซึ่งพระธรรมที่ทรงแสดงจะอุปการะให้เกิดความรู้ ความเห็นถูก ตั้งแต่ความเป็นปุถุชนถึงความเป็นกัลยาณปุถุชน ถึงความเป็นพระอริยะจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ที่ดับกิเลสได้ แต่ต้องเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแต่ไปจำคำ หรือไปจำชื่อ หรือไปคิดถึงคำ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226


    หมายเลข 11159
    28 ธ.ค. 2566