สะสมความเห็นถูก ความจำถูกในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน


        ผู้ถาม อยากจะถามเกี่ยวกับเรื่องกรรมก็คือเจตนาเจตสิกที่จะเป็นเหตุให้ล่วงทุจริตกรรม เช่นล่วงศีล ๕ ว่าจะต้องเกิดขึ้นเฉพาะขณะจิตที่คิดเป็นธรรมจึงจะเป็นกรรมบถ เช่น เห็นแมลงสาบอยู่ก็คิดอยากจะตีให้ตายก็เลยตีลงไป เป็นต้น

        สุ. เวลาจะตีต้องคิดทุกทีหรือเปล่า เห็นยุงจะตบยุง จะฆ่ายุง ต้องคิดทุกครั้งหรือเปล่า

        ผู้ถาม ไม่ต้องคิดเป็นคำทุกครั้ง

        สุ. เจตนาเกิดแล้ว จงใจ ตั้งใจที่จะฆ่า

        ผู้ถาม อย่างนี้ก็เป็นกรรมบถเหมือนกันใช่ไหมครับ

        สุ. กรรมคืออะไร บถคืออะไรอีก ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ กรรมเป็นสภาพของเจตนาเจตสิกซึ่งทำกิจขวนขวายจงใจที่จะให้สำเร็จกิจนั้นๆ แล้วถ้าศึกษาโดยละเอียดก็จะทราบได้ว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท แม้แต่ในขณะที่จิตเห็น เพียงแค่เห็นเกิดก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมกับเจตสิกอื่นๆ ที่จะกระตุ้นหรือขวนขวายทำให้สำเร็จกิจของเจตสิกนั้นๆ ด้วย ก็เป็นสภาพธรรมที่แต่ละอย่างก็มีลักษณะเฉพาะตน ถ้าเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายความว่าเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภทก็จะรู้ได้ว่ามี ๗ ประเภทของเจตสิกที่เกิดกับจิตทั้งหมด ไม่เว้นเลย รวมทั้งเจตนาเจตสิกด้วย แต่ส่วนใหญ่เราก็พอที่จะรู้เจตนาที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต แต่ว่าเจตนาที่เกิดกับจิตประเภทอื่นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

        ผู้ถาม เกี่ยวกับเรื่องมโนกรรมกับกายกรรมที่ยังไม่เข้าใจ อย่างเช่นเรื่องพระนางสามาวดี ตอนที่จะสุมไฟเผา คือตอนแรกพระนางไม่รู้ว่าที่อยู่ในกองไฟนั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่ก็เลยสุมไฟเผาไป แต่พอรู้แล้วก็มีเจตนาที่จะทำให้พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นตาย คือไม่เข้าใจว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตายจริงๆ ใช่ไหมครับ แต่ทำไมนางต้องได้รับกรรมด้วย

        สุ. ก็ทราบว่ากรรมได้แก่เจตนา เพราะเหตุว่าเจตสิกมีหลายประเภทมีถึง ๕๒ ประเภท แต่เจตสิกอื่นไม่ใช่ความจงใจความตั้งใจ แต่ลักษณะของเจตสิกซึ่งจงใจตั้งใจชื่อว่าเจตนาเจตสิก เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพของกรรม เป็นผู้ที่กระทำกรรมหรือเป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิดกรรม คุณแสงธรรมเคยโกรธใครไหม

        ผู้ถาม เคยครับ

        สุ. คิดยังไงบ้างเวลาโกรธคนนั้น

        ผู้ถาม คิดหลายอย่าง

        สุ. บอกได้ไหม

        ผู้ถาม เช่น อยากทำร้ายเขาบ้าง

        สุ. อยากทำร้าย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเกินโกรธแล้วใช่ไหม มีกำลัง มีเจตนา มีความจงใจเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าศึกษาเราทราบแล้วว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภทไม่เว้นเลย ไม่ว่าจิตประเภทไหนเกิดในภพภูมิไหน เป็นจิตอะไรก็ตามแต่ ชาติไหนก็ตามแต่ ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้ากุศลจิตเกิดเพราะโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตนาขณะนั้นก็เป็นกุศล เป็นไปในกุศล แต่ถ้าอกุศลเจตสิกเกิดกับจิต เจตนาที่เกิดกับจิตนั้นๆ ก็เป็นอกุศลเจตนา แต่ถ้าเกิดกับวิบากจิต เจตนาก็เป็นวิบากเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยที่จะต้องทำกิจนั้นพร้อมกับเจตสิกอื่นๆ ในขณะจิตนั้น ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นได้ว่าลักษณะของเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นเหตุจะให้เกิดผล ก็ต้องเป็นเจตนาที่เป็นกุศลหรือว่าเจตนาที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นรู้ได้ด้วยตัวเองใช่ไหม โกรธเกิดขึ้นมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีการคิดที่จะประทุษร้ายก็เป็นระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นแต่ลักษณะของความโกรธ แล้วเวลาที่มีการไม่พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดเฉพาะหน้าเกิดขึ้นทำให้มีการประทุษร้าย ไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าจะประทุษร้ายบุคคลนั้นถึงกับสิ้นชีวิตก็ได้หรือว่าบาดเจ็บก็ได้ แต่ว่าก็มีการกระทำทางกายเพราะโทสะที่เกิดขึ้นมีกำลังขณะนั้นก็ไม่ใช่พยาปาทซึ่งเป็นมโนกรรม แต่ว่าตามความเป็นจริงไม่ใช่ว่าเราจะต้องมานั่งคิดว่านี่เป็นมโนกรรมหรือเป็นกายกรรม หรือเป็นวจีกรรม เพียงแต่จะรู้ว่าขณะนั้นเจตนาเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเป็นอกุศลก็ควรที่จะรังเกียจ เห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ต้องคอยไปจนกระทั่งถึงคิดจะทำร้ายแล้วก็กระทำลงไป เพราะเหตุว่ามีกำลังเมื่อไหร่ทุจริตกรรมทั้งหมดก็มาจากอกุศลจิตนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ไม่กังวลถึงชื่อจะดีกว่าไหม เพราะว่าถ้าให้คุณแสงธรรมคิดเอง แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังอย่างนี้จะทันคิดไหมว่าขณะนั้นเป็นกายกรรมหรือว่าเป็นมโนกรรม หรือต้องมาเรียกชื่อทั้งๆ ที่หมดไปแล้วดับไปแล้ว อย่างหนึ่งการสะสมของแต่ละคนก็ต่างกัน อย่างดิฉันเองจะจำเรื่องราวยาวๆ ไม่ได้ ทศกัณฐ์ กุมภกัณฐ์ ทำอะไรอยู่ที่ไหนในน้ำ พระนารายณ์มายังไง ไม่เคยจำได้เลย สั้นกว่านั้นอีก ปลาบู่ทอง พอใครมาอ่านให้ฟังก็นึกออกมีสองคนแม่ลูก เลี้ยงลูกอะไร ลูกจริง ลูกตัว อะไรก็ไปเกิดเป็นโน่นเป็นนี่ก็เท่านั้นเอง แต่ว่าความละเอียดจะจำไม่ได้ แล้วเราควรจำหรือว่าควรจะมีสัญญาใหม่ที่สามารถที่จะจำลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นการจำเรื่อง เพราะเรื่องถ้าจำไม่ละเอียดก็ผิดๆ ถูกๆ ทั้งนั้นเลย คลาดเคลื่อน เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปี แล้วใครจะไปรู้ใจใครคิดยังไง แล้วชาติก่อนนั้นอีกเป็นยังไง ก็เป็นเรื่องของจิตที่กำลังคิดเรื่องราวซึ่งไม่สามารถที่จะไปรู้ได้ แต่สิ่งที่มีจริงๆ กำลังปรากฏสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกได้ และก็สะสมสัญญาความเห็นถูก ความจำถูกในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์กว่า เพราะถึงแม้ว่าพระไตรปิฎกจะแสดงเรื่องชีวิตที่หลากหลายตามการสะสมก็เพียงแต่ให้เห็นว่าความวิจิตรของจิต และเจตสิกมากมายเหลือเกิน จะเกิดอีกกี่ชาติก็ไม่เหมือนเดิม กลับไปเป็นใครต่อใครเหมือนเดิมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรที่เพิ่มขึ้น ตอนเป็นเด็กความวิจิตรก็ตามกำลังของสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรื่องราวต่างๆ พอเติบโตขึ้นแต่ละวัน ความวิจิตรของจิตที่คิดก็มากขึ้นก็ยังคงเป็นสัญญาความจำเรื่องราวอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าอาศัยการเห็นการได้ยินแล้วไม่รู้ความจริง จิตก็จะวิจิตรต่อไปไม่สิ้นสุดจนกว่าจะค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224


    หมายเลข 11065
    24 ม.ค. 2567