ลักษณะของปัญญา-จิตคิด


        ผู้ถาม พูดถึงปัญญานี่ทำลายความมืด คำว่า “ปัญญา” ตรงนี้คืออะไร

        สุ. ปัญญาคือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่มีจริงๆ แต่ละอย่าง

        ผู้ถาม แล้วกับจิต

        สุ. จิตเป็นธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ขณะที่กำลังเห็น ลักษณะที่ปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งกับจิตซึ่งสามารถเห็นๆ แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เสียงมีหลายเสียงไหม

        ผู้ถาม หลายเสียง

        สุ. แต่ละเสียงต่างกัน เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของเสียงที่ปรากฏแต่ละเสียง จึงเป็นหน้าที่ของจิตที่เป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะฉะนั้นสภาพของนามธรรมไม่ใช่มีแต่จิต แต่มีสภาพนามธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกครั้งที่จิตเกิด ธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นได้จะเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้เลย ต้องมีสภาพธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วยเป็นปัจจัยอาศัยกัน และกันเกิด เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นสภาพรู้จะเกิดโดยไม่มีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งเกิดร่วมด้วยไม่ได้ ขณะนี้เห็นหรือคิด

        ผู้ถาม เห็น

        สุ. เห็นเพราะผัสสเจตสิกกำลังกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าขณะที่คิดก็มีเจตสิกคือผัสสเจตสิกกระทบเรื่อง เพราะมีการจำคำนั้นหรือเรื่องนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะกระทบเรื่อง และจิตก็รู้เรื่องนั้น เพราะฉะนั้นลักษณะของจิตกับเจตสิกต่างกันที่จิตเป็นนามธรรม เจตสิกก็เป็นนามธรรม แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดทั้งสิ้นจะใช้คำว่าโลกุตตรจิต โสตาปัตติมรรคจิต หรืออะไรก็ตามแต่ จิตจะเปลี่ยนลักษณะจากความเป็นใหญ่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่ปัญญาๆ เป็นเจตสิก จิตเห็นเพียงเห็น แต่ไม่ใช่เป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกว่าสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง และก็คือธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถปรากฏ เมื่อมีจักขุปสาท และก็ต้องมีจิตเกิดขึ้นเห็น สิ่งนี้จึงปรากฏได้ แต่เมื่อจิตนี้เกิดแล้ว การฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นธาตุหรือเป็นสภาพธรรม นั่นคือความเห็นถูก เริ่มเป็นปัญญาที่เกิดจากขั้นการฟังซึ่งปัญญานี้ก็จะเจริญต่อไปอีก จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดว่าเป็นความจริง ไม่คลาดเคลื่อนเลย ไม่มีแล้วมี แล้วหามีไม่ พิสูจน์ได้เลยอย่างเสียงไม่มี แล้วก็มีเสียง แล้วเสียงก็หมดไป นี่เป็นแต่เพียงตัวอย่างที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมว่าเราได้ยินแต่ชื่อเยอะเลยตามตำรา แต่ลักษณะจริงๆ ไม่รู้ในความเป็นธรรม อย่างเวลาที่โกรธขุ่นใจเกิดขึ้น มีใครบ้างที่ไม่รู้ รู้แต่เป็นเรา ไม่ได้มีปัญญาที่เข้าใจถูก เห็นถูกว่าเป็นธรรมลักษณะหนึ่งซึ่งต่างกับธรรมลักษณะอื่น แต่ทั้งหมดนี่เป็นธรรมทั้งนั้น ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์อื่นเลย เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม จุดประสงค์คือเพื่อให้มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในภาษาไทย ถ้าในภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “ปัญญา” เพราะฉะนั้นการที่เราจะใช้ภาษาหนึ่งภาษาใดก็ควรที่จะเข้าใจความหมายที่แท้จริงในภาษานั้น ถ้าพูดภาษาไทยกับคนที่เป็นชาวมคธหรือที่อินเดีย เขาก็ไม่เข้าใจ แต่เวลาที่เขาพูดคำของเขา และคำที่ใช้ในสมัยพุทธกาลก็เป็นภาษามคธ เราซึ่งกำลังอยู่ในเมืองไทยเกิดเป็นคนไทยก็ไม่เข้าใจ แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นโดยภาษาใดก็สามารถที่จะใช้คำที่จะทำให้เข้าใจลักษณะนั้นได้ แต่ต้องตรง และก็ต้องรู้ความหมายของแต่ละภาษาด้วย

        ผู้ถาม ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้คำว่า “เจริญสติ” ในเมื่อสติเป็นเจตสิก ทำไมไม่ใช้คำว่าเจริญจิต

        สุ. จิตเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ จิตไม่ใช่เจตสิก เพราะฉะนั้นหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ก้าวก่ายกันไม่ได้เลย เป็นลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ โทสะก็เป็นสติไม่ได้ ปัญญาก็เป็นสติไม่ได้ สติเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศลเท่านั้นหรือในธรรมฝ่ายดี

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219


    หมายเลข 11026
    25 ม.ค. 2567