ไม่ใช่มีเราที่จะพิจารณาอีก


        วิ. พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงเรื่องของลักษณะของสภาพธรรมให้พิจารณาว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเราศึกษา และก็เริ่มที่จะเข้าใจบ้าง ธรรมที่ปรากฏก็ยังไม่ปรากฏที่จะให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นความคิดนึก

        สุ. ก็ถูกต้อง เป็นความคิดนึก เช่นในขณะนี้ใช่ไหม มีสิ่งที่ปรากฏแล้วก็คิดนึก

        วิ. ก็ทราบว่าขณะที่แม้ปรากฏอยู่ขณะนี้ รูปนั้นก็ต้องดับด้วย แต่ว่ายังไม่เห็นถึงว่ารูปเกิดดับยังไง

        สุ. ด้วยเหตุนี้ปัญญาจึงมี ๓ ขั้น ปัญญาที่สำเร็จจากการฟังเข้าใจ ฟังแล้วเข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรม เพราะว่ามีลักษณะแต่ละอย่างที่ปรากฏแต่ละทาง เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้เป็นธรรม เกิดจึงได้ปรากฏแล้วเมื่อเกิดปรากฏแล้วดับไป เพราะฉะนั้นความเข้าใจถูกก็คือว่ายังไม่ได้ประจักษ์ความจริง นี่คือความเข้าใจถูก แม้ว่าจะมีความเข้าใจขั้นฟังที่ถูกต้องว่าขณะนี้เป็นธรรมซึ่งเกิดปรากฏแล้วดับไป

        วิ. คือก็เข้าใจ เช่นการตรึก หรือนึก หรือการพิจารณา ก็ได้เหตุปัจจัยจากขั้นการฟังว่าที่ทรงแสดงว่าควรพิจารณา หรือว่าให้พิจารณาว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

        สุ. ต้องเข้าใจความหมายของพิจารณาด้วย ที่ทรงแสดงพระธรรมว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่มีจิต เจตสิก รูปๆ ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้นก็เป็นจิต เจตสิก ที่สามารถที่จะรู้ และสามารถที่จะพิจารณา เพราะฉะนั้นเวลานี้ที่กำลังฟัง เข้าใจ จิต เจตสิก พิจารณาแล้ว ไม่ใช่มีเราที่จะพิจารณาอีก แต่ว่าขณะใดก็ตามที่ฟังเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นจิตแต่ละขณะ แต่ละประเภทซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน และแม้ขณะที่กำลังเข้าใจก็เป็นจิตซึ่งมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าลักษณะของจิต ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะใดที่มีการเห็นสิ่งนั้นเพราะจิตกำลังรู้แจ้งลักษณะนั้น แต่ขณะใดที่มีความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจว่าลักษณะที่เห็นมี และก็เป็นลักษณะที่ต่างกับสภาพธรรมอื่น ขณะนั้นจิต เจตสิกทำงานแล้วตามหน้าที่ของตนๆ และก็พิจารณาแล้ว และก็เข้าใจตามกำลังของจิต และเจตสิกในขณะนั้นด้วย ให้มีความเข้าใจถูกต้องว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่เมื่อฟังแล้วก็คิดว่าเราจะต้องมาพิจารณา ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็คือว่าไม่รู้ว่าเป็นจิต และเจตสิกที่เกิดสืบต่อ และก็พิจารณาจนเข้าใจ

        วิ. ไม่ใส่ใจสนใจก็อาจจะไปเพลินกับเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรื่องอื่นๆ ไป ธรรมถ้ามีความเข้าใจๆ นั้นแหละจะเป็นปัจจัยให้เห็นประโยชน์ เริ่มที่จะมีความเห็นประโยชน์ในการที่จะใส่ใจสนใจศึกษามากขึ้น แต่ว่าไม่ใช่ว่ามีความที่ต้องไปอย่างนั้นอย่างนี้

        สุ. แต่ก็ยังมีความเป็นเราใช่ไหม เหมือนกับว่าเราพิจารณาจากการฟัง เพราะฉะนั้นการที่ฟังธรรมก็เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่าทุกขณะไม่มีเรา เป็นจิต และเจตสิกทั้งหมดที่สามารถจะรู้ สามารถจะคิด สามารถจะพิจารณา สามารถที่จะเข้าใจได้ ขณะไหนก็ตาม ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญปัญญาที่จะสามารถเข้าถึงลักษณะที่เป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน จึงเป็นการที่อาศัยการฟัง มีความเข้าใจขึ้น จนกระทั่งสติสัมปชัญญะซึ่งต่างกับสติขั้นฟัง ในขณะนี้มีเจตสิกที่เป็นฝ่ายโสภณเกิดร่วมกับจิตที่กำลังฟัง และเข้าใจ แต่ว่าเป็นเพียงระดับขั้นฟัง และเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็เป็นปัจจัยให้มีการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งต่างกับขณะที่กำลังฟังเฉยๆ ฟังไปเรื่อยๆ เข้าใจเรื่องราวไปเรื่อยๆ แต่ว่าขณะใดก็ตามที่มีการเริ่มรู้ตรงลักษณะซึ่งไม่ได้มีการคิดมาก่อนว่าตอนนี้นะจะเริ่มระลึก หรือว่าจะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ในขณะที่เป็นปกตินี่เองก็จะมีสภาพที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งเกิดขึ้น ขณะนั้นผู้นั้นก็จะเข้าใจความหมายของสติสัมปชัญญะ ซึ่งกำลังมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏให้รู้ในลักษณะนั้น อย่างที่ถามว่าแข็งเป็นอะไร เป็นแข็งหรือว่าเป็นธรรม

        วิ. แข็งก็ต้องเป็นแข็ง

        สุ. แข็งเป็นแข็งเพราะใครๆ ก็รู้ว่าแข็งเป็นแข็งๆ เป็นอื่นไม่ได้ แต่ที่จะรู้ว่าแข็งเป็นธรรม ทั้งหมดเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม แข็งเป็นธรรม เสียงเป็นธรรม คิดนึกเป็นธรรม

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217


    หมายเลข 11011
    25 ม.ค. 2567