ฐานที่จะทำให้กรรมให้ผล


        ผู้ถาม ทุกสิ่งในชีวิตที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรม คือเป็นสภาพธรรมที่เกิด และก็มีเหตุปัจจัยที่จะต้องให้เราทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดในแต่ละวันตลอดเวลาเลยใช่ไหม

        สุ. ถ้าเข้าใจถูกต้อง ไม่มีใคร ไม่มีตัวตน แต่มีสภาพธรรมคือจิต เจตสิก รูป

        ผู้ถาม แต่ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันก็เป็นลักษณะหรือว่าเหตุปัจจัยที่สะสมมาของแต่ละบุคคลที่จะทำให้เป็นอย่างนั้น

        สุ. ถ้ามีความเข้าใจว่าไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีอะไร แต่มีสภาวธรรมคือจิต เจตสิก รูป จะทำอะไรกับจิต เจตสิก รูป ได้ จิต เจตสิก ขณะนี้เกิด ใครจะไปทำอะไรจิต เจตสิกที่เกิดได้ จิต เจตสิกที่ดับ ใครจะไปทำอะไรกับจิต เจตสิกที่ดับได้ และก็จิตที่ดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก ขณะต่อไปเกิดขึ้น ใครจะไปยับยั้ง ไปทำอะไรได้ ถ้ารู้ว่าเป็นจิต เจตสิก ไม่มีใครไปทำอะไร จิต เจตสิก นั่นเองเกิดขึ้นทำกิจการงานของจิต เจตสิกนั้นๆ โดยที่ใครก็ยับยั้งไม่ได้ ตราบใดที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อจุติคือจากโลกนี้ไปแล้วก็ต้องเกิดสืบต่อที่จะไม่ให้ธาตุชนิดนี้เกิดไม่ได้เลย และธาตุต่างๆ ก็คือจิตเป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เจตสิกแต่ละประเภทก็เป็นธาตุรู้ แต่ว่ามีลักษณะเฉพาะตนแต่ละอย่างๆ ใครไปทำอะไรธาตุที่มีจริงๆ ได้ เกิดก็ห้ามไม่ได้แล้ว เกิดแล้วก็จะไม่ให้จิตที่เกิดดับไปก็ไม่ได้ และเมื่อเกิดแล้วจิตที่ดับไปๆ ก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาติ ไปทำอะไรไม่ได้ ไม่มีใครไปทำอะไรธาตุต่างๆ ได้เลยถ้ามีความเข้าใจถูกว่าเป็นธาตุ เป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยก็ต้องเกิด

        ผู้ถาม พอตื่นลืมตาขึ้นมา

        สุ. อะไรตื่น ก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก ทั้งวัน ตลอดชีวิต ทุกชาติ เป็นจิต เจตสิก รูป

        ผู้ถาม ความรู้ที่ได้ศึกษามาทางธรรม เราก็สามารถที่จะพิจารณาในขณะจิตแต่ละขณะ

        สุ. ขณะนั้นเป็นอะไรที่พิจารณา

        ผู้ถาม เป็นตัวเรา

        สุ. เป็นจิต เจตสิก รูป พอเผลอก็เรา เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะฟังว่าเป็นจิต เจตสิก รูป แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของธรรมนั้นๆ ก็ยังเป็นเราอยู่ นี่คืออวิชชาที่ยังไม่ได้หมดไปเลยสะสมสืบต่อเป็นอนุสัย และอนุสัยก็มีหลายประเภท ไม่ใช่มีแต่อวิชชาอย่างเดียว แต่ทั้งหมดอวิชชาเป็นมูลรากของทางฝ่ายอกุศล

        ผู้ถาม แล้ววันหนึ่งจิตที่เกิดก็มีหลายชาติ ทั้งกุศล อกุศล และวิบากที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

        สุ. ครบ ๔ ชาติ กิริยาจิตด้วย

        ผู้ถาม ถ้าเราคิดที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด

        สุ. ขณะนั้นอะไร

        ผู้ถาม จิต

        สุ. จิตคิด

        ผู้ถาม จะคิดทำสิ่งดีหรือไม่ดี ย่อมจะได้รับวิบากที่เป็นผล

        สุ. อะไรคือวิบาก

        ผู้ถาม จิต

        สุ. ก็จิต เจตสิก ไม่มีพ้นไปเลย ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่เรียนเรื่องชาติต่างๆ ของจิตว่าจิตไหนเป็นเหตุ ดับไปแล้วจิต ไหนเป็นผล จิตไหนเป็นกิริยา เรียนให้รู้ถูกต้องว่าไม่มีเรา แต่มีธรรม เพราะฉะนั้นขณะที่คิดก็คือจิตคิดๆ อะไรก็แล้วแต่ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ขณะที่คิดเป็นกุศลหรืออกุศลเพราะความไม่รู้

        ผู้ถาม เพราะฉะนั้นก็จะได้รับผลในสิ่งนั้นๆ

        สุ. ถ้าเป็นอกุศลกรรม ก็จะให้ผลทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายไม่ดี ป่วยไข้ได้เจ็บ

        ผู้ถาม ถ้าคิดไม่ดูหนังสือ ก็ย่อมสอบไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นผลสืบเนื่องกันนี่คือพื้นฐานเบื้องต้น ทุกคนก็คิดได้แบบนี้

        สุ. แล้วสอบได้เป็นอะไร หรือว่าสะสมไป คิดก็เป็นคิด ผลของกรรมก็คือผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ขณะที่คิดมีเห็นไหม

        ผู้ถาม มี

        สุ. แยกเห็นว่าเป็นวิบาก ส่วนคิดไม่ใช่วิบาก แล้ววิบากที่เห็น ขณะที่กำลังคิดหรือกำลังเรียนกำลังอ่าน วิบากที่เห็นมาจากไหน วิบากทั้งหมดมาจากไหน ถ้าเป็นวิบากแล้วต้องมาจากกรรมเป็นปัจจัย กรรมที่ได้กระทำแล้ว

        ผู้ถาม อย่างนั้นการคิดที่จะดูหนังสือ หรือไม่ดูหนังสือ อันนี้ก็มีเหตุ และปัจจัยที่จะทำให้เราคิดเช่นนั้นใช่ไหม

        สุ. แน่นอน ความคิดของแต่ละคนต่างกันตามการสะสม แม้ขณะนี้ก็คิดไม่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะสะสมมาต่างกัน

        ธิ. ถ้าหากเวลาที่สอบไม่ได้ ก็จะต้องได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ อันนี้ก็คือถูกคุณพ่อคุณแม่ตำหนิ อันนี้ก็เป็นการรับผลของกรรม

        สุ. กรรมอะไร

        ธิ. กรรมในอดีต

        สุ. กรรมที่สอบไม่ได้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นต้องแยก ถ้าไม่แยกเราก็สับสนระหว่างกรรม และผลของกรรม ขณะที่กำลังเห็นจะอ่านหนังสือหรือไม่อ่านหนังสือ จะสอบได้หรือสอบตก เห็นเป็นผลของกรรม แต่เวลาที่เราเกิดโลภะ โทสะ โมหะ เราจะไปบอกว่าเป็นผลของกรรมไม่ได้ และขณะนั้นก็ต้องรู้ด้วยว่ากำลังเรียนหนังสือ จิตเป็นอะไร ต้องเป็นผู้ที่ตรง และก็กรรมที่ได้กระทำแล้ว จะเป็นปัจจัยให้แม้แต่กำลังอ่านหนังสือหรือทำอะไรก็ตามแต่ ผลของกรรมก็มีอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จากเหตุที่ได้กระทำแล้ว

        ธิ. ก็อาจจะเรียกว่าแล้วแต่กรรมจะให้ผล อย่างบุคคลที่อาจจะอ่านหนังสือมาอย่างดี หรือเขาคิดว่าเตรียมตัวมาพร้อมแล้ว แต่ว่าถ้าหากเขาอาจจะไม่ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ ก็คือผลของกรรมก็เหมือนกับการสอบตก โลกธรรมทั้ง ๘ ก็เรียกว่าเป็นผลของกรรมฝ่ายดี และกรรมฝ่ายไม่ดี

        สุ. ถ้าได้ศึกษาโดยละเอียดเพิ่มขึ้น จะทราบถึงฐานที่จะทำให้กรรมให้ผล เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วแม้ว่าจะทำกรรมมาแล้วก็จริง แต่กรรมใดจะให้ผลหรือ กรรมใดไม่ให้ผลก็ต้องมีเหตุประกอบด้วย เช่น ปโยคะ (ความขยัน หรือความสามารถในการงานต่างๆ ) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าก่อนอื่นที่จะต้องเข้าใจอย่างมั่นคงก็คือเข้าใจเรื่องเหตุ และผล กุศล และอกุศล เป็นเหตุที่จะให้เกิดกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก แต่ส่วนที่กุศลวิบากจะเกิดหรืออกุศลวิบากจะเกิดก็ต้องอาศัยเหตุอื่นประกอบด้วย ถ้าใช้คำว่าเหตุอื่นประกอบด้วยก็คงจะพอเข้าใจได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าจะต้องรู้ชาติของจิตให้มั่นคง ไม่สับสน

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200


    หมายเลข 10551
    25 ม.ค. 2567