ปัญญาขั้นฟ้งกับขั้นที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม


        ผู้ถาม สิ่งที่กำลังปรากฏส่วนมากมันไม่ปรากฏ เข้าไม่ถึงอรรถ บางครั้งก็เข้าถึง

        สุ. นี่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าจากการฟังทำให้มีความเข้าใจว่ากว่าปัญญาจะเจริญได้ต้องทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่อดทน และก็มีฉันทะอย่างยิ่งในการที่จะสะสมอบรมความเห็นถูก แม้ในขั้นการฟัง ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นข้อความที่ค้านกัน เข้ากันไม่ได้ ไม่ตรงกัน นั่นก็คือว่าไม่ถูกต้อง ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และก็รอบคอบ และก็รู้ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ ความจริงขณะที่ได้ฟังอย่างไร เวลาที่ปัญญารู้แจ้งลักษณะนั้นก็ตรงกัน จะผิดกันไม่ได้เลย

        ผู้ถาม ติดอยู่ที่นิมิตอนุพยัญชนะ ไปติดอยู่ตรงนั้น แต่ก็ลดละได้

        สุ. ถ้าลดละความเห็นที่ถูกต้องก็คือว่าลดละโลภะ (ความต้องการ) ซึ่งแต่ก่อนคงจะมีความต้องการอย่างมาก บางคนก็ต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันในชาตินี้ ถ้าไม่ได้บางคนก็กล่าวว่า แค่นามรูปปริจเฉทญาณก็ยังดี นี่คือโลภะไม่ได้ลดละเลย แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องรู้ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องบังคับบัญชา แต่เป็นเรื่องปัญญาคือความเห็นถูกจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่เป็นหนทางเดียวที่จะละโลภะ เพราะว่าการศึกษาธรรมจะทำให้เข้าใจได้ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงที่เป็นพระธรรมที่ถูกต้องเป็นเรื่องของการละ ซึ่งโลภะนี่เห็นยากเพราะเหตุว่าคุ้นเคยกับโลภะมานาน และก็ทุกอย่างเป็นไปตามโลภะในชีวิตประจำวัน แม้การศึกษาธรรมก็จะค่อยๆ รู้จักโลภะตามความเป็นจริง แต่ต้องละเอียด และต้องรอบคอบด้วยว่าถ้าโลภะเกิดเมื่อไหร่ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยเมื่อไหร่ จะไม่มีความอดทนที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขั้นของการฟัง และในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ นี่ก็เป็นการพิสูจน์ว่าการฟังต้องเป็นเรื่องละความไม่รู้ด้วยความอดทนจนกว่าจะดับโลภะที่ติดข้องยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสมุจเฉท

        ผู้ถาม พออาศัยศึกษาจิต เจตสิก ผมยกมือท่วมหัว พระพุทธองค์ท่านรู้มากถึงขนาดนี้ จิตเราก็โล่งโปร่งใส อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นโลภะ เป็นฉันทะหรือเปล่า

        สุ. อยากให้ตอบเอง เพราะเหตุว่าการเรียนของเรา ถ้าเราไม่สามารถที่จะรู้ด้วยตัวเองก็คือเรายังไม่ได้เข้าใจ อย่างเวลานี้สงสัยใช่ไหม เป็นจิตประเภทไหน เรียนมามีชื่อหมดทุกอย่าง แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นปรากฏจริงๆ รู้ลักษณะนั้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่สงสัยเป็นจิตประเภทไหนที่ได้เรียนแล้ว ข้อสำคัญคือเราเรียนเยอะมาก แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิด ไม่รู้เลย ชื่อต่างๆ หายไปหมดเลย แต่ว่าการที่จะเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เพียงแค่ไม่ใช่เรายังไม่รู้ แล้วจะรู้ว่าจิตนั้นชื่ออะไร มีเจตสิกประกอบเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เรียนมาแล้ว ไม่มีเหลือในขณะที่กำลังไม่รู้ กำลังสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้าจะถามถึงชื่อ คนที่ศึกษาแล้วก็สามารถที่จะบอกได้ว่าเป็นจิตอะไร ต้องเป็นอกุศลจิตแน่นอนใช่ไหม สงสัย เป็นอกุศลจิตประเภทไหนโดยชื่อ

        ผู้ถาม โดยชื่อก็เป็นโมหะ

        สุ. โมหมูลจิตมี ๒ ประเภท วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย อีกประเภทหนึ่งไม่มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย เป็นจิตประเภทไหน สองประเภทนี้ขณะที่กำลังสงสัย

        ผู้ถาม สงสัยในนิมิตอนุพยัญชนะ แต่ความรู้สึกดีมาก โล่ง

        สุ. คนละขณะ สงสัยนี่ต้องมี ผู้ที่ไม่มีคือพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงขณะที่สงสัยกำลังเกิด นั่นคือการรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นบางทีเวลาที่ศึกษาธรรม ก็อาจจะเป็นอย่างที่ว่าคือพอใจที่จะรู้พยัญชนะมากๆ เพราะฉะนั้นเวลานั้นอาจจะนึกว่าแล้วนี่เป็นอะไรๆ นึกถึงชื่อ ไม่ได้นึกถึงลักษณะนั้นว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นเกิดการนึกถึงชื่อ ต้องการรู้ชื่อว่าชื่ออะไร เพราะฉะนั้นก็เกิดการคิดซึ่งไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม ด้วยเหตุนี้ที่ได้ศึกษามาแล้วจะไม่เกื้อกูลต่อการที่จะเข้าใจลักษณะของสังขารธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น การเรียนจึงมี ๒ อย่าง เรียนเพื่อที่จะจำชื่อ อาจจะนึกถึงว่าขณะนั้นเป็นวิจิกิจฉา เกิดกับโมหมูลจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ นึกยาวไปถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบตามความเป็นจริง การตั้งจิตก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นการสะสมความเห็นถูกว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ การเรียนเพียงเพื่อให้เราได้สามารถที่จะไตร่ตรองได้ยินได้ฟังสิ่งที่เรียนว่าเป็นสิ่งที่มีจริง และก็มีในชีวิตประจำวัน และก็สามารถที่จะค่อยๆ รู้ถูก เห็นถูก ตามความเป็นจริง แต่การศึกษาตอนเริ่มต้น เรารู้ว่าเป็นธรรม แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิด แม้เบื้องต้นของการศึกษาซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นธรรม แต่ขณะนั้นไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม นี่ก็แสดงให้เห็นว่ากว่าเราจะไปถึงตำรับตำราอีกมากมายที่เราผ่านไป เวลาที่เราจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็คือเริ่มต้นที่จะต้องรู้ลักษณะที่เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งได้ศึกษามาแล้วนั้นเอง เพราะฉะนั้นแม้ว่าการศึกษาจะละเอียดมากมายก็เพื่อปรุงแต่งให้ถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด จึงสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าลักษณะนั้นตามปกติก็เป็นธรรม อย่างแข็งเรารู้ว่าเป็นสิ่งที่สามารถจะปรากฏแก่จิตซึ่งรู้ได้ทางกาย อาศัยกายปสาท แล้วก็ไม่มีใครทำแข็งให้เกิดขึ้นเลย แต่ขณะนี้ที่แข็งปรากฏ รู้อย่างนั้นหรือเปล่า หรือว่าไปคิดถึงเรื่องกายวิญญาณมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ขณะที่ฟังเพื่อให้ขณะแต่ละขณะที่ผ่านพ้นไปสะสมความมั่นคง เป็นสัจจญาณที่จะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วจะได้ไม่ออกนอกทางที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปเพื่อที่จะเพียงจำ แต่ขณะที่ได้ยินได้ฟัง จำก็มี เข้าใจก็มี แต่ว่าเข้าใจเพียงในเรื่องราว แต่ว่าไม่ได้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็รู้ความต่างกันของปัญญาขั้นฟังกับปัญญาขั้นเข้าใจ กับปัญญาขั้นที่กำลังถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198


    หมายเลข 10514
    25 ม.ค. 2567